Politics

กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์ ‘ฝีดาษลิง’ แนะประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด

กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์  ‘ฝีดาษลิง’ แนะประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด หากเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด ให้สังเกตอาการตนเอง

นางวันทนีย์  วัฒนะ รองปลัด กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ที่พบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus)

เฝ้าระวัง

ช่วงเปิดประเทศ อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทาง ที่มาจากพื้นที่ระบาด

เชื้อไวรัสฝีดาษลิง พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครโดยสำนักการแพทย์ ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข แม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะยังไม่ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว

เพื่อป้องกันการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากในระยะนี้เป็นช่วงที่เริ่มเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ ในประเทศกลุ่มเสี่ยง อาจมีโอกาสติดเชื้อและนำกลับมายังประเทศได้ โดยมีกลุ่มเสี่ยงคือ แรงงานต่างชาติ หรือคนไทยที่ไปทำงานในประเทศที่มีการติดเชื้อ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว

เฝ้าระวัง

อย่างไรก็ดี โรคฝีดาษลิง เป็นโรควินิจฉัยได้ยาก  อาการของโรคจะแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 7-14 วัน โดยมีอาการคล้ายโรคฝีดาษ มีลักษณะอาการดังนี้ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอหรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา

อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต

เฝ้าระวัง

แนะวิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ป่วย  หรือสิ่งของสาธารณะ 

วิธีการป้องกัน ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะลิง และหนู หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง และสิ่งของของผู้ป่วย รวมถึงลมหายใจของผู้ป่วย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ ใช้ผ้าปิดจมูกและปาก เมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด ถ้าพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ แม้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ

หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo