Politics

‘ไทย ไรซ์ นามา’ ต้นแบบ ‘ทำนาลดโลกร้อน’ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยี 4 ป.

‘ไทย ไรซ์ นามา’ ต้นแบบ ‘ทำนาลดโลกร้อน’ ที่ยั่งยืน พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้เกษตรกร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยี 4 ป.

วันนี้ (17 พ.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม ยินดีที่ไทยและเยอรมนีร่วมกันผลักดัน โครงการการทำนาลดโลกร้อน พร้อมชู “ไทย ไรซ์ นามา” ต่อยอดความร่วมมือเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพิ่มผลผลิตและรายได้อย่างยั่งยืน

ไทย ไรซ์ นามา

วางแนวทางเกษตรกรยุคใหม่ เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันและวางแนวทางเกษตรกรชาวนายุคใหม่ ให้สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  หวังบรรลุเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย จากเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต ตามแนวทางลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันเป็นวาระสำคัญของประชาคมโลก

ไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) หรือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อน จากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทย กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก NAMA Facility

ไทย ไรซ์ นามา

เพื่อแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จากรูปแบบการทำนาดั้งเดิมที่ สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของภาคเกษตรกรรมทั้งหมดในไทย และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก อีกทั้งการขังน้ำในนาข้าวทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนในการหาแนวป้องกัน และผลักดันการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของไทยให้เป็นรูปธรรม  ผ่านนโยบายการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนรูปแบบการทำนา

ไทย ไรซ์ นามา

องค์ความรู้การทำนาสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยี 4 ป.

อีกทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทำนาสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยี 4 ป. กล่าวคือ

  1. ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling -LLL) คือการปรับพื้นที่นาให้เรียบสม่ำเสมอ ลดต้นทุน เพิ่มการผลิต ได้กำไรมากขึ้น
  2. เปียกสลับแห้ง คือการปลูกเพื่อทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ต้านทานโรคและแมลงได้
  3. ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน คือ การนำดินเข้าห้องทดลองเพื่อหาค่าความเหมาะสมในการใช้ปุ๋ย และ
  4. แปรสภาพฟางและตอซังข้าว คือ ไม่เผาแต่เน้นแปรรูป ผ่านกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน และกลุ่มสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่

เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบความสำเร็จด้านการทำนายุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งต่อแนวคิดสู่เกษตรกรรายย่อยให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ประเทศไทยด้วยมาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน

โดยผลจากการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2564 พบว่า มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 25,000 คน สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวได้กว่า 305,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรไทยด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร ไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และร่วมมือกับคู่ภาคีเพื่อต่อยอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้น เพื่ออนาคตของประชาชนรุ่นต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo