Politics

WHO จับตา โอไมครอน ‘BA.4 และ BA.5’ กลายพันธุ์จากเดิม ‘มากที่สุด’ เท่าที่เคยพบมา

WHO ประกาศจับตา โอไมครอน ‘BA.4 และ BA.5’ จะแพร่เร็วกว่า BA.2 หรือไม่ เพราะกลายพันธุ์ไปจากไวรัสอู่ฮั่นเกือบ 100 ตำแหน่ง  แต่ยังไม่พบในไทย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า องค์การอนามัยโลก กำลังจับตา โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดังนี้

BA.4 และ BA.5

จฺับตา BA.4 และ BA.5 จะแพร่ระบาดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่ แต่ยังไม่พบในไทย

องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 เม.ย.) ว่ากำลังเฝ้าติดตามกลุ่มผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยใหม่ สองสายพันธุ์คือ “BA.4” และ “BA.5” ประมาณ 30-40 คนเพื่อประเมินว่า

  1. สายพันธุ์ BA.4 – BA.5 จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเหนือกว่า BA.2 หรือไม่ เพราะจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบว่า BA.5 แตกต่างไปจากไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิมเกือบ “100 ตำแหน่ง” ซึ่งมากที่สุดเท่าที่พบมา รองลงมาคือ BA.4 จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบว่า BA.4 แตกต่างไปจากไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิมถึง “90 ตำแหน่ง”

จากการศึกษาธรรมชาติของการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า ตำแหน่งกลายพันธุ์บนจีโนมที่เพิ่มขึ้น มีความแปรผันตรงกับความเร็วของการแพร่ระบาด ด้วยเหตุนี้ทำให้ WHO ขอร้องให้ทุกประเทศทั่วโลก ช่วยกันจับตามองสองสายพันธุ์นี้เป็นพิเศษ

  1. สายพันธุ์ BA.4 – BA.5 จะก่อให้เกิดอาการของโรคโควิด-19 ที่ รุนแรงมากกว่าโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย “BA.1” และ “BA.2” ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่

BA.4 และ BA.5

จากการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 จากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” จำนวน “10,220,862 ตัวอย่าง” จากทั่วโลกพบ

  • สายพันธุ์ BA.4 ประมาณ “83 ตัวอย่าง” และ
  • สายพันธุ์ BA.5 เพียง “37 ตัวอย่าง”  ชึ่งไม่ถึงหลักร้อยทำให้คาดคะเนว่า ไวรัสทั้งสองสายพันธุ์อาจจะมีวิถีวิวัฒนาการ ที่ยังไม่สามารถเข้าได้กับสิ่งแวดล้อมขณะนี้

จากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก”GISAID” เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา ยังไม่พบ BA.4 – BA.5 ในประเทศไทย

สรุปว่าขณะนี้ WHO กำลังเฝ้าระวังโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอยู่ 6 สายพันธุ์  กล่าวคือ  BA.1, BA.1.1, BA.2, BA.3, BA.4 และ BA.5 และสายพันธุ์ลูกผสมอีกประมาณ 8 สายพันธุ์ คือ XD,XF, XE, XG,XH,XL,XK, และ XJ

BA.4 และ BA.5

BA.4 และ BA.5 กลายพันธุ์จาก BA.2 เพียง 2 ตำแหน่ง ในจุดที่ไม่เคยเจอในสายพันธุ์อื่น

สายพันธุ์ BA.4 – BA.5 มีรหัสพันธุกรรมคล้ายคลึงกับโอไมครอน “BA.2” มาก โดยมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากโอไมครอน BA.2 ประมาณ 2 ตำแหน่งบนส่วนของหนาม คือ L452R ที่ไปเหมือนกับเดลต้า และ แลมป์ดา และ F486V ซึ่งไม่ค่อยเจอในสายพันธุ์อื่นๆ

จึงจำเป็นต้องเร่งศึกษา การกลายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงส่วนหนาม เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบจากการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ของไวรัสสองสายพันธุ์ใหม่นี้

อนึ่ง ไวรัสโคโรนา 2019 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา แต่มีเพียง “การกลายพันธุ์บางตำแหน่งเท่านั้น” ที่สามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถของไวรัส ในการแพร่ระบาดหรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ที่ได้รับมาก่อนหน้าจากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ รวมถึงส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของความรุนแรงของโรคโควิด-19

เช่น กรณีของ BA.2 ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลกถึงร้อยละ 94 สามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็ว เหนือกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้ (ยกเว้น BA.4 และ BA.5) แต่หลักฐานจนถึงตอนนี้ชี้ให้เห็นว่า BA.2 ไม่น่าจะก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้เหมือนเดลตา บีตา อัลฟา ในอดีต

BA.4 และ BA.5

พบ BA.4 ในแอฟริกาใต้ เดนมาร์ก บอตสวานา สกอตแลนด์ และอังกฤษ ส่วน BA.5 ที่บอตสวานา

สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (The UK’s Health Security Agency) ซึ่งถอดรหัสพันธุ์กรรมโควิด-19 ทั้งจีโนม จากตัวอย่างทั่วโลก (whole genome sequencing) กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พบ BA.4 ในแอฟริกาใต้ เดนมาร์ก บอตสวานา สกอตแลนด์ และอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม ถึง 30 มีนาคม

ส่วนสายพันธุ์ BA.5 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังพบอยู่เฉพาะในแอฟริกาใต้ แต่ในวันจันทร์ (11 เม.ย.) นี้ กระทรวงสาธารณสุขของบอตสวานา รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 แล้วสี่ราย อายุระหว่าง 30 -50 ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน โดยมีอาการไม่รุนแรง (mild symptoms)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo