COVID-19

สรุปชัด ๆ 4 มาตรการเปลี่ยนผ่านโควิด สู่โรคประจำถิ่น อัตราป่วยตายต้องไม่เกิน 0.1%

ศบค. ไฟเขียว 4 มาตรการเปลี่ยนผ่านโควิด สู่โรคประจำถิ่น อัตราป่วยตายต้องไม่เกิน 0.1% ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง-สูงอายุมากกว่า 60% ขึ้นไป

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดสู่โรคประจำถิ่น โดยได้มีมาตรการ 4 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์

โควิด สู่โรคประจำถิ่น

4 มาตรการเปลี่ยนผ่านโควิด สู่โรคประจำถิ่น

1. ด้านสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อน และผู้ป่วยปอดอักเสบ ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ปรับแนวทางแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส

2. ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD ดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง รวมทั้งภาวะ Long Covid

3. ด้านกฎหมายและสังคม บริหารจัดการด้านกฎหมายในทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่ Post pandemic ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก และทุกภาคร่วมดำเนินการมาตรการป้องกันตัวเองแบบครบวงจร และโควิดฟรีเซตติ้ง

มาตรการ4ระยะ

4. ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ทุกภาคส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับโควิด 19 อย่างปลอดภัย และสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างครอบคลุมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความร่วมมือของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา

 

สำหรับสถานการณ์ ณ ตอนนี้หรือระยะที่ 1 อยู่ในระยะต่อสู้กับโรคโควิด ที่เรียกว่า Combatting ขณะที่ระยะที่ 2 เรียกว่า Plateau เป็นระยะทรงตัว ซึ่งอยู่ในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม

จากนั้นระยะที่ 3 ช่วงปลายพฤษภาคม-30 มิถุนายน เรียกว่า Declining จะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ และหากเป็นไปตามคาดการณ์ 1 กรกฎาคม 2565 ก็จะเห็นตัวเลขกดลดลงไปได้ เรียกว่า Post- pandemic

โรคประจำถิ่น

นอกจากนี้ เป้าหมายของการบริหารจัดการเพื่อให้เข้าสู่โรคประจำถิ่น คือ

1. การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ อัตราป่วยตายไม่เกิน 0.1%

2. ความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้นต้องมากกว่า 60% โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังฉีดเพียง 20-30%

3. สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และความร่วมมือของประชาชนในการรับมือและปรับตัว เพื่ออยู่ร่วมกับโควิด

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจ เพราะหลายคนเข้าใจว่า ประกาศว่าจะเป็นโรคประจำถิ่นก็ผ่อนคลายกันเลย ซึ่งไม่ใช่ เราจะไปไม่ถึงจุดหมายการเป็นโรคประจำถิ่น ยังไม่ได้เกิดเดี๋ยวนี้ เพราะตัวเลขยังสูงอยู่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo