Politics

น่าห่วง ตัวเลข ‘เสียชีวิตจากโควิด’ แค่สัปดาห์เดียว เพิ่มขึ้น 38%

“หมอธีระ”เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 38% ชี้วัคซีนเข็มกระตุ้นจำเป็น

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

วันนี้ (15 มี.ค.) ดังนี้

เสียชีวิตจากโควิด

ทะลุ 459 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 973,604 คน ตายเพิ่ม 3,707 คน รวมแล้วติดไปรวม 459,222,287 คน เสียชีวิตรวม 6,070,220 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และรัสเซีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.31 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 77.79

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.77 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 40.27

เสียชีวิตจากโควิด

น่าห่วง ไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด เทียบกับสัปดาห์ก่อน เพิ่มขึ้น 38% ขณะที่เอเชียและทั่วโลกลดลง

…สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 66 คน สูงเป็นอันดับ 18 ของโลก

สถิติจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 17% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยทวีปเอเชียลดลงเฉลี่ย 8% แต่ของไทยเราน่าเป็นห่วง เพราะเพิ่มขึ้น 38% (จากข้อมูล Worldometer)

..อัพเดตงานวิจัย

Vivaldi G และคณะ ได้ทำการศึกษาติดตามประชากรอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 14,713 คน ตั้งแต่มกราคมปีก่อนจนถึงกุมภาพันธ์ปีนี้ โดยประชากรที่ศึกษาทั้งหมดนั้นได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วและจำนวน 10,665 คนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

หากเปรียบเทียบกันเรื่องชนิดวัคซีนที่ฉีด พบว่ากลุ่มที่ได้วัคซีน ChAdOx1 จะมีความเสี่ยงที่จะการเกิดการติดเชื้อในช่วงที่ติดตามผล (breakthrough infection) มากกว่ากลุ่มที่ได้วัคซีน BNT162b2 1.63 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.41-1.88 เท่า)

โดยหากเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่มหลังได้รับเข็มกระตุ้น โดยกลุ่มที่ได้ ChAdOx1 มาก่อนและได้รับเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA-1273 เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ BNT162b2 มาก่อนและรับเข็มกระตุ้นด้วย BNT162b2 ผลก็ออกมาคล้ายกันคือ 1.29 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.03-1.61 เท่า)

เสียชีวิตจากโควิด

นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สำคัญคือ ประชากรที่มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าจะมีโอกาสติดเชื้อมากกว่า และประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน คือการเข้าไปในสถานที่ปิด/พื้นที่ภายในอาคารบ่อยๆ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (indoor public space)

ผลจากการวิจัยในสหราชอาณาจักรชิ้นนี้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการให้ความรู้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดความตระหนักของประชาชนในสังคม ที่จะป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน

การใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น ระมัดระวังการไปในสถานที่อับ ระบายอากาศไม่ดี

หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีความจำเป็น

ด้วยสถานการณ์ของไทยที่ยังมีการติดเชื้อมาก กระจายทั่ว หัวใจสำคัญที่สุดตอนนี้คือเรื่องพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นครับ

ต่อมา รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ยังได้โพสต์ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในวันนี้ (15 มี.ค.)ว่า

19,742

ATK 13,008

รวม 32,750

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1189 คน เป็น 1,390 คน เพิ่มขึ้น 16.9%

ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 400 คน เป็น 476 คน เพิ่มขึ้น 19%

จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 15.07% และลดลงกว่าสองสัปดาห์ก่อน 28.42%

“คาดว่าจำนวนป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจะยังสูงไปอีกระยะหนึ่ง ศบค.ควรประคับประคองขาลงให้ดี ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท พึงระลึกเสมอว่าปัญหา Long COVID จะเป็นภาระระยะยาวทั้งต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยเด็ก และวัยทำงาน”

การมุ่งเน้นมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo