Politics

เริ่ม 16 มี.ค. ‘ยูเซ็ป พลัส’ ผู้ป่วยโควิด เช็คสิทธิรักษาด่วน!!

สปสช. ห่วงเกณฑ์โควิด-19 กลุ่มเหลืองยังไม่ชัด จี้ สพฉ. เร่งกำหนดก่อนเริ่ม “ยูเซ็ป พลัส” 16 มี.ค.นี้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ยันเริ่มสิทธิ “ยูเซ็ป พลัส”  เริ่มบังคับใช้ 16 มี.ค.นี้    

จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคมนี้เป็นต้นไป ผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง หรือ กลุ่มสีเขียว จะไม่นับเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต แต่สามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาล ตามสิทธิของแต่ละคน เช่น สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาล แนะนำให้การดูแลแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) หรือ Hotel Isolation

ยูเซ็ป พลัส

ส่วนผู้ป่วยติดโควิด-19 ที่แพทย์วินิจฉัยว่า เข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉิน ตามเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดแนวทางและเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินไว้แล้ว คือ กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และ สีแดง เข้ารับการรักษาใน โรงพยาบาลได้ทุกแห่ง โดยไม่กำหนดระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก โดยสิทธิการปรับปรุงนี้เรียกว่า ยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus)

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านระบบบริการจากยูเซ็ป โควิด-19 (UCEP Covid-19) มาเป็น ยูเซ็ป พลัส  มีผลบังคับใช้วันที่ 16 มีนาคม 2565 ว่าคำว่า “ยูเซ็ป พลัส” หมายความว่า ผู้ป่วยที่มีความฉุกเฉิน ในส่วนของโควิด-19 จะเป็นกลุ่มสีเหลือง และสีแดง รวมถึงกลุ่มสีเขียว ที่อาการมากขึ้น ให้สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการเอกชนนอกระบบได้  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ สพฉ. ต้องออกกติกาว่า ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มดังกล่าวที่เป็นกลุ่มวิกฤตฉุกเฉิน มีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง

ยูเซ็ป พลัส
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

“กลุ่มสีแดง เราเคยมีกติกาอยู่แล้ว แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือ กลุ่มสีเหลือง หน่วยงานรับผิดชอบคือ สพฉ. ที่ต้องออกกติกามา เพื่อไม่ให้หน่วยบริการเอกชนนอกระบบ เกิดความสับสนว่า ลักษณะใดสามารถรับเข้า ยูเซ็ป พลัส ได้ หากวิธีการยังไม่มา วิธีแก้คือ หน่วยบริการเอกชนนอกระบบ ต้องใช้วิจารณญาณของเขา  ต้องรอ สพฉ.ให้ออกหลักเกณฑ์สีเหลืองมาก่อน” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า กลุ่มสีเขียวจะเป็นอย่างไร หลังวันที่ 16 มีนาคมนี้  ที่จะมี ยูเซ็ป พลัส ต้องบอกว่าหากไม่มีอาการ หรืออาการน้อย แล้วเข้าหน่วยบริการเอกชนนอกระบบ ต้องการให้รักษาเหมือนที่ผ่านมา ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน แบบนี้ต้องจ่ายเงินเอง แต่สปสช.กำลังหารือกับหน่วยบริการเอกชนนอกระบบ เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในกลุ่มเขียว ที่ไม่ได้อยู่ในยูเซ็ป เช่น ไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอมาก เริ่มเหนื่อยหอบ อาการที่ไม่ถึงสีเหลือง ตอนนี้กำลังตกลงกันอยู่

ยูเซ็ป พลัส

ก่อนหน้านี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีผู้ป่วยโควิด-19 หรือ UCEP Plus แล้ว จะเริ่มวันที่ 16 มีนาคม 2565 โดยผู้ติดเชื้ออาการสีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายป่วย ไม่จำกัดแค่ 72 ชั่วโมงเหมือน UCEP ปกติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นในเครือข่ายจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ป่วยหรือญาติประสงค์จะไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเครือข่าย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียว จะให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นโดยใช้สิทธิ UCEP Plus ได้เช่นกัน

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.ได้จัดทำเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคโควิด-19 (UCEP Plus) โดยต้องมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

1. ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า ซึมลง (เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกเดิม) หรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก

2. มีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือออกซิเจนในเลือดเมื่อแรกรับน้อยกว่า 94% หรือมีระดับออกซิเจนลดต่ำลงกว่าภาวะปกติ 3% เมื่อออกแรง หรือโรคประจำตัวเปลี่ยนแปลงรุนแรง หรือจำเป็นต้องรับการติดตามใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือในเด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารน้อยลง หรือผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของแพทย์

3. มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย คือ เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หรืออื่น ๆ ตามดุลยพินิจของผู้คัดแยก

ยูเซ็ป พลัส

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การใช้สิทธิ UCEP Plus ผู้ติดเชื้อสิทธิบัตรทองกลุ่มอาการสีเหลืองหรือสีแดงยังเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษหรืออาหารพิเศษนอกเหนือสิทธิประโยชน์ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวไปรับบริการสถานพยาบาลปฐมภูมิในระบบบัตรทองได้ทุกที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือแดง สามารถส่งต่อไปโรงพยาบาลเอกชนเพื่อรับการรักษาจนหายได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเช่นกัน สำหรับปัญหาสายด่วน 1330 ได้ขยายคู่สายเพิ่มเป็น 3,200 คู่สาย มีสายโทรเข้าลดลงเหลือ 44,447 สาย สายหลุดหรือไม่ได้รับสาย ลดลงจาก 37% เหลือ 13%

ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียน ผ่านเว็บไซต์ สปสช. หรือไลน์ @nhso จะจับคู่กับหน่วยบริการที่ให้บริการได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก ทำให้การติดต่อกลับของหน่วยบริการอาจล่าช้ากว่าเดิมบ้าง แต่จากการเพิ่มบริการแบบผู้ป่วยนอกทำให้ปริมาณสายโทรเข้าลดลงส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้ตกค้างในระบบที่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับประมาณ  6-7 พันราย ภายในสัปดาห์นี้จะเร่งรัดติดต่อกลับให้หมดทุกรายและส่งยาให้ตามความจำเป็น

ยูเซ็ป พลัส

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight