Politics

‘หมอธีระ’ ยัน 4 เดือน ยังไม่เพียงพอ ประกาศเป็น ‘โรคประจำถิ่น’

‘หมอธีระ’ ยัน 4 เดือน ยังไม่เพียงพอ ประกาศเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ติดเชื้อยังเยอะ ยืนยันด้วย RT-PCR จำกัด แม้จะผ่านจุดพีคมาแล้ว แต่วางใจไม่ได้

วันนี้ (10 มี.ค.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 10 มีนาคม 2565 ว่าทะลุ 451 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,516,256 คน ตายเพิ่ม 6,222 คน รวมแล้วติดไปรวม 451,056,270 คน เสียชีวิตรวม 6,042,565 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

โรคประจำถิ่น
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.03 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.61 ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.83 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 36.41

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

โรคประจำถิ่น

ตรวจ RT-PCR อย่างจำกัด ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันไม่มาก แต่สถานการณ์จริงระบาดเป็นวงกว้าง

สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 69 คน สูงเป็นอันดับ 20 ของโลก

รายงานขององค์การอนามัยโลก WHO Weekly Epidemiological Report วันที่ 8 March 2022 สรุปภาพรวมให้เห็นว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีรายงานติดเชื้อใหม่ลดลง 5% และจำนวนการเสียชีวิตลดลง 8%

แต่ได้ระบุไว้ว่า การที่จำนวนติดเชื้อลดลงนั้น อาจเป็นเพราะบางประเทศมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องการตรวจคัดกรองโรค

ทั้งนี้เราคงเห็นได้จากในประเทศไทยด้วย ที่ตรวจ RT-PCR อย่างจำกัด ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันไม่มาก แต่สถานการณ์จริง การระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK จำนวนมากกว่า RT-PCR แต่ไม่รายงานรวมเป็นผู้ติดเชื้อ ทั้งที่นำเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาแบบ Home isolation, Community isolation, และแบบ OPD

โรคประจำถิ่น

องค์การอนามัยโลกได้สรุปเกี่ยวกับ Omicron ไว้ดังนี้

1. ล่าสุดจากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ระบาด พบว่า Omicron ครองการระบาดในสัดส่วนสูงถึง 99.7% ในขณะที่เดลตาเหลือเพียง 0.1%

2. สำหรับ Omicron นั้น ขณะนี้มีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ โดยพบ BA.1.1 มากสุดคือ 41% รองลงมาคือ BA.2 มีราว 34.2% และ BA.1 ราว 24.7%

3. Omicron มีความได้เปรียบในการแพร่เชื้อมากกว่าเดลตา 64%

4. หากเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ย่อยของ Omicron พบว่า BA.2 มีความได้เปรียบในการแพร่เชื้อมากกว่า BA.1 56% ทั้งนี้ในสหราชอาณาจักรพบว่าอาจสูงถึง 82.7% และมีอัตราการติดเชื้อทั้งในครัวเรือนและนอกครัวเรือนมากกว่า BA.1 อีกด้วย

5. ในแง่ความรุนแรงของโรค BA.2 ไม่แตกต่างจาก BA.1

“ย้ำเตือนอีกครั้งว่า เมืองไทยเรายังมีการระบาดรุนแรง กระจายทั่ว แม้ดูจะเป็น “ขาลง” หลังพีกเมื่อ 3 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ธรรมชาติของการระบาดขาลงที่สังเกตจากประเทศอื่นจะยาวนานกว่าขาขึ้น 1.5 เท่า จึงคาดว่าไทยเราจะมีช่วงขาลงราว 42 วันหรือ 6 สัปดาห์ ระยะยาวเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าวางใจ ลัลล้าได้ แต่กลับหมายถึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะจำนวนติดเชื้อใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงขาลงที่ยาวนานนี้อาจมีจำนวนรวมมากกว่าขาขึ้นได้ หากประมาท ไม่ป้องกันตัวให้ดี”

จำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น อาจเกิดสายพันธุ์ใหม่ 4 เดือน ยังไม่พอประกาศเป็นโรคประจำถิ่น

นอกจากนี้ยิ่งจำนวนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นมากเท่าใด โอกาสเกิดการปะทุรุนแรงขึ้นกว่าเดิมย่อมมีได้ โอกาสเกิดสายพันธุ์ใหม่ย่อมมีได้มากขึ้น และที่ควรตระหนักคือ จำนวนคนที่จะประสบปัญหา Long COVID ในระยะยาวจะมากขึ้น Long COVID จะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งคนที่ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาน้อยๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิด และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

ด้วยสถานการณ์และทิศทางนโยบายและมาตรการดังที่เป็นมา คาดว่า 4 เดือน หรือ 3+1 ไม่มีทางที่จะเพียงพอสำหรับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นครับ ความรู้เกี่ยวกับ Long COVID จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการโรคโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้องนำนโยบาย จึงจะมีโอกาสสำเร็จ ความสำเร็จนั้นวัดกันที่”ผลลัพธ์ที่เห็น”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo