Politics

หนุน ‘มีลูกช่วยชาติ’ อีก 10 ปีมีปัญหาแน่ ผุดสิทธิประโยชน์จูงใจให้คน ‘อยากท้อง’

หนุน ‘มีลูกช่วยชาติ’ อีก 10 ปีมีปัญหาแน่ ประชากรจะลดลงครึ่งหนึ่ง เร่งหาสิทธิประโยชน์จูงใจให้คน’อยากมีลูก’ ส่วนคนที่มีลูกยาก ต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย บัตรทองจ่ายให้

วันนี้ (3 ก.พ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากกรณีเด็กเกิดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉลี่ย 5.6-5.8 แสนรายต่อปี อัตราการเจริญพันธุ์รวมเพียง 1.24 เท่านั้น ทั้งๆ ที่อัตราเจริญพันธุ์รวม ควรอยู่ที่ 1.6 ขณะที่ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดย 1 ใน 5 ของประชากรไทยเป็นผู้สูงอายุ 12 ล้านคน อีกไม่กี่ปีจะเป็น 1 ใน 4

มีลูกช่วยชาติ

นอกจากนี้ แม้คนมีอายุยืนขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตถือว่าสูง ซึ่งกราฟเด็กเกิดน้อย และการเสียชีวิตที่มากขึ้นกำลังจะมาตัดกันซึ่งถือว่าน่ากังวล 10 – 20 ปี ข้างหน้าหากไม่ทำอะไรเลย วัยทำงานที่จะอุ้มชูสังคม อุ้มชูวัยเด็ก และอุ้มชูผู้สูงอายุน้อยลงมาก ประชากรของประเทศอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง

“ดังนั้น รัฐต้องถือเป็นวาระสำคัญของชาติเพราะนี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างประชากรของประเทศ ที่ต้องดำเนินโครงการต่อเนื่องเป็น 10 -20 ปี โดยดำเนินการไปพร้อมกันคือมาตรการทางสังคม มาตรการทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง ซึ่งระยะแรกนี้ต้องเบรก หรือชะลออัตราการเกิดที่น้อยให้ได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผุดสิทธิประโยชน์จูงใจ มีลูกช่วยชาติ

จากการสำรวจพบว่า คนอยากมีลูก แต่อยากให้มีการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมด้วย มีสถานรับเลี้ยงเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ รวมถึงเข้าถึงบริการให้คำปรึกษา รักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 มีมติมากมายในการแก้ไขปัญหา

และล่าสุดมีการการเสนอในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรื่องการตรวจความพร้อมการจัดบริการการรักษาภาวะมีบุตรยาก และส่งเสริมให้ถูกกลุ่ม ถูกคน โดยจัดระบบดังนี้ ระดับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้คำปรึกษาได้ ระดับโรงพยาบาล (รพ.) ชุมชน ต้องสามารถตรวจสุขภาพ คัดกรองเบื้องต้นได้

มีลูกช่วยชาติ

และระดับ รพ.จังหวัด ที่มีสูตินรีแพทย์ก็ทำหัตถเด็กการฉีดน้ำเชื้อต่างๆ ส่วนการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำกิฟ IVF เป็นต้น นั้น ให้ดำเนินการในระดับเขตสุขภาพ โดยใช้การส่งต่อ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นความเหลื่อมล้ำ คนรวยเท่านั้นถึงจะเข้าถึง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับเรื่องค่าใช้จ่าย ตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ระบุว่า บริการให้คำปรึกษาการรักษาเบื้องต้น การตรวจโรคที่เป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก และรักษา รวมถึงการฉีดน้ำเชื้อนั้น อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบ

ใช้เทคโนโลยีช่วย บัตรทองจ่าย

ส่วนเรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยนั้น ได้มีการพูดคุยกันระหว่างราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สปสช. พิจารณาและเห็นพ้องต้องกันในการให้สิทธิ

ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาต้นทุนหลายมิติ และประเมินความคุ้มค่า เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงต้นอาจจะจัดเป็นระบบส่งต่อ

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะมีลูก แต่มีความยากลำบากที่จะมีได้ โดยกว่าร้อยละ 80 สามารถแก้ไขได้ในระดับของการให้คำปรึกษา วางแผน การนับช่วงเวลาตกไข่ การให้ยากระตุ้นการตกไข่ และการฉีดน้ำเชื้อ ส่วนอีกร้อยละ 20 ยังต้องมีการประเมินเป็นรายๆ ไปเพื่อเข้ารับการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

มีลูกช่วยชาติ

แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเพียง 104 แห่งทั่วประเทศเท่านั้น ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานคร 71 แห่ง ภูมิภาค 33 แห่ง ที่สำคัญคือ ในจำนวน 104 แห่งนั้น พบว่าเป็นสถานพยาบาลของรัฐเพียง 15 แห่ง หรือร้อยละ 14.5 เท่านั้น ที่เหลือเป็นสถานพยาบาลเอกชนทั้งระดับรพ. และระดับคลินิก

ขณะที่คนพร้อมมีลูก และเข้าไม่ถึงบริการ ดังนั้น จึงเสนอที่ปพะชุมเห็นชอบจากที่คณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดเตรียมความพร้อมบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก เตรียมกรอบอัตรากำลังคนเพิ่มเติม

หาทางออกเรื่องการเบิกจ่าย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การมีบุตรยากเป็นภาระโรค สิทธิด้านการอนามัยเจริญพันธุ์เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ICPD การรักษา จึงเป็นการคืนสิทธิการเข้าถึงบริการการตั้งครรภ์คุณภาพ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และองค์การอนามัยโลกบัญญัติว่าเป็นโรค และความพิการชนิดหนึ่ง ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต ถึงจะสามารถลงรหัสโรคได้ ไม่อย่างนั้นก็จะมีผลทำให้ไม่สามารถเบิกค่ารักษาส่วนนี้ได้ ตอนนี้จึงต้องลงว่าเป็นโรคก่อน แล้วไปตกลงกับ 3 กองทุน เรื่องการเบิกจ่าย

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้มีลูกไม่ได้จำกัดว่าแต่ละครอบครัวจะมีลูกกี่คน ให้ขึ้นอยู่กับสุขภาพ และความพร้อมของครอบครัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo