Politics

ศวปถ.เสนอเข้มกม.จราจร เพิ่มโทษหนัก กวดขันจริงจัง

ศวปถ.เสนอเข้มกม.จราจร เพิ่มโทษหนัก กวดขันจริงจัง แนะจำกัดความเร็วในเขตชุมชน กำหนดการชะลอหรือหยุดรถให้คนข้ามไว้ในหลักสูตรและการสอบใบขับขี่

จากกรณีที่ “หมอกระต่าย” พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ประสบอุบัติเหตุถูกรถบิ๊กไบค์ชน ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจร โดยเฉพาะบริเวณทางม้าลาย

shutterstock 1440125915

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุขปี 2559-2561 ระบุว่า เป็นคนเดินถนนร้อยละ 6-8 หรือเฉลี่ย 800-1,000 ราย ในแต่ละปี และจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนเดินถนนประสบเหตุ 2,500-2,900 รายต่อปี

ส่วนใหญ่เกิดอุบัตเหตุในพื้นที่กรุงเทพ โดยมีปัจจัยความเสี่ยง คือ 1.ถนนมีลักษณะหลายช่องจราจร เวลาข้ามถนนต้องใช้ระยะเวลาอยู่บนถนนนาน 2.เมื่อมีคนข้าม รถในช่องทางชะลอหรือหยุดแต่ช่องจราจรขวาสุดที่ขับขี่ด้วยความเร็วมักไม่ได้ชะลอและอาจมองไม่เห็นกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งอีกจุดอันตรายของการข้ามถนนที่มักจะมีผู้เกิดเหตุและเสียชีวิต

ในระยะแรกของการเกิดอุบัติเหตุมกจะได้รับความสนใจ แต่เมื่อเรื่องเงียบก็ขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ควรต้องสร้างระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System) ที่เป็นหลักประกันให้กับสังคม มากกว่าการสั่งการแบบเดิม ๆ โดยไม่เกิดระบบจัดการที่เป็นรูปธรรม

“ควรต้องมีระบบเฝ้าระวัง ระบบกำกับติดตาม และที่สำคัญการทวงถามความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้คนในสังคมต้องพบกับความสูญเสียเหมือนกรณีของคุณหมอกระต่ายอีก”

shutterstock 1403063075

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ดังนี้ 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการผลักดันให้ความผิดกรณีชนคนเดินบนทางม้าลาย ต้องมีข้อหา “ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยทุกครั้ง” พร้อมทั้งปรับปรุงฐานความผิดที่รุนแรงมากกว่าขับรถโดยประมาท เพิ่มการตรวจจับและบังคับใช้ในกรณีไม่หยุดหรือชะลอรถให้คนเดินข้ามทางม้าลาย และมีระบบกำกับติดตามประเมินผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

2.ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พิจารณาดำเนินการกำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในการข้ามถนน เป็นวาระที่ ศปถ. ในทุกระดับต้องสำรวจและมีแผนดำเนินการ พร้อมทั้งมีการกำกับติดตามความคืบหน้าและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ พร้อมรายงานผลให้ ครม. รัฐสภา และสาธารณะ รับทราบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับรายงานความปลอดภัยทางถนนในด้านอื่น ๆ

และ 3. การแก้ไขเชิงโครงสร้างถนน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ดังนี้ 1. ถนนที่มีทางข้ามหลายช่องจราจร ให้มีการจัดการความเร็วของรถที่ขับขี่ โดยเฉพาะในเขตชุมชน จุดข้ามทางม้าลาย ควรใช้ความเร็ว 30-40 กม./ชม. 2. เพิ่มระยะเส้นหยุดหรือมีสัญลักษณ์ให้เด่นชัดสำหรับรถที่ต้องชะลอหรือหยุด  3. กรมการขนส่งทางบก กำหนดเรื่องการชะลอและหยุดให้คนข้ามทางม้าลายไว้ในหลักสูตรและการสอบใบขับขี่

อ่า่นข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo