Politics

‘บิ๊กตู่’ ติดตามแก้หนี้ข้าราชการ สั่งถอดโมเดลปรับโครงสร้างหนี้ตำรวจ

​”โฆษกรัฐบาล” เผย “บิ๊กตู่” ติดตามการแก้หนี้ข้าราชการ เผยให้หน่วยงานถอดโมเดลปรับโครงสร้างหนี้ตำรวจ โดย ตช. ใช้กลไกสหกรณ์ของหน่วยงานในสังกัดแก้หนี้ตำรวจได้แล้วกว่า 4 พันล้านบาท

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้ข้าราชการตำรวจและครู ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

บิ๊กตู่

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รายงาน สถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับข้าราชการตำรวจ จากข้อมูล ณ 15 พฤศจิกายน 2564 มีกำลังพลทั้งสิ้น 205,448 ราย พบว่ามีหนี้สินจำนวน 164,291 คน คิดเป็น 80% ของกำลังพลทั้งหมด

รวมจำนวนเงินหนี้ทั้งสิ้นกว่า 322,032 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • หนี้สหกรณ์ จำนวน 231,435,677,495 บาท
  • หนี้สถาบันการเงินจำนวน 90,596,998,734 บาท

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินโครงการแก้หนี้สินข้าราชการตำรวจเป็นระยะ ๆ รวมมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 7,333 ราย สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ จำนวน 2,778 ราย เป็นเงินจำนวน 4,041,750,256 บาท ขณะนี้ยังคงค้างอยู่ในโครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 4,555 ราย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ตำรวจว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้กลไกของสหกรณ์มาดำเนินการ โดยจัดตั้งสหกรณ์ต้นแบบที่สมัครใจและมีศักยภาพ เป็นสหกรณ์นำร่องและให้สหกรณ์อื่น ๆ ดำเนินการตามแนวทางของสหกรณ์ต้นแบบคู่ขนานกันไป

ทั้งนี้ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ประกอบด้วย

บิ๊กตู่

  1. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้กู้เงินจากสหกรณ์ เพื่อให้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ทำให้ค่างวดที่จ่ายแต่ละเดือนแบ่งไปตัดลดเงินต้นได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ให้รักษาสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์ ด้วยการปรับลดต้นทุนผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทให้ไม่เกิน 3% และการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงินหรือสหกรณ์อื่นที่ไปกู้มา ซึ่งได้รับความร่วมมือกับธนาคารออมสินในการกำหนดแนวทางการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์และการเสริมสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์
  2. จัดสรรผลกำไรสุทธิเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้กู้ให้มากที่สุด เพื่อให้เงินได้เพื่อนำมาจ่ายหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้เพิ่มขึ้น ด้วยการลดค่าใช้จ่ายเงินปันผล งบบริหารจัดการ ค่าตอบแทนกรรมการ และสวัสดิการที่ไม่จำเป็นลง
  3. นำหุ้นบางส่วนมาชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิก
  4. รวมหนี้จากสถาบันการเงินอื่นไว้ที่สหกรณ์โดยกำหนดสมาชิกให้รักษาวินัยทางการเงินของสมาชิก และการไม่ปล่อยหนี้เพิ่มให้กับสมาชิกของสถาบันการเงินอื่น
  5. ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับสมาชิกที่เตรียมจะเกษียณอายุราชการ
  6. ปรับลดค่าส่งหุ้นรายเดือน เพื่อให้สมาชิกได้มีเงินเดือนเหลือใช้ในการดำรงชีพ
  7. สมาชิกที่เงินเดือนเหลือน้อยกว่า 30% ต้องอยู่ในการปรับโครงสร้างหนี้
  8. นำผลประโยชน์ที่จะได้ในอนาคต เช่น บำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จตกทอด หรือเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่มีมายุบยอดหนี้ให้ลดลง เพื่อให้สมาชิกมีเงินเดือนเหลือใช้ในการดำรงชีพด้วย

“ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นใจข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะเศรษฐกิจและสังคม จึงอยากสนับสนุนให้ข้าราชการทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางการเงิน หรือ Financial literacy เพื่อให้มีความรู้ทางการเงินที่ถูกต้อง ทั้งบริหารเงิน การวางแผนการใช้จ่าย รวมทั้งแผนการออม ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งนายกรัฐมนตรียังขอให้หน่วยราชการที่มีหนี้ข้าราชการสะสมจำนวนมาก ไม่ว่าครูหรือตำรวจ เร่งหาโมเดลแก้หนี้ ที่เหมาะสมทั้งไทยและต่างประเทศ ให้ถอดแบบความสำเร็จเพื่อเร่งเดินหน้าตามเป้าหมายปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน 2565 ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม” นายธนกร กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK