Politics

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาด ‘โควิด-19’

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564  การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนกระทั่งมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส หลายสายพันธุ์ด้วยกัน ยังคงเป็นปัจจัยหลัก ฉุดเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่องช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะภาคบริการ อย่างธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจการบิน ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมทั้งคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ ทำให้ภาครัฐต้องออกนโยบายอัดฉีดเม็ดเงิน เพื่อหล่อเลี้ยงประชาชนมาเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะยังคงมีต่อไปในวันข้างหน้า

สำหรับปี 2564 ไม่เฉพาะแต่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยยังเผชิญกับ เหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้นระหว่างทางทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สำนักงาน The Bangkok Insight ได้รวบรวม 10 เรื่องเด่นที่น่าสนใจในรอบปีดังนี้

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19

1. ย้อนไทมไลน์โควิด 2564 วิกฤติเตียงเต็ม นอนตายกลางถนน

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ “โควิด” ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2564 จะทรงตัวอยู่ในระดับที่ดีขึ้นในระดับประมาณ 3 พันรายต่อวัน จากช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุ 2 หมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตหลักร้อยราย โดยล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ 2,220,324 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธ.ค. 64) แต่สิ่งที่รัฐบาลและประชาชนยังต้องจับตาคือ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ “โอไมครอน” ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น กระจายไปในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564

ส่งผลให้รัฐบาลกำชับให้ทุกส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และขอความร่วมมือให้ยกระดับการดูแลสถานการณ์ตามข้อกำหนดของ ศบค. เพื่อป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

หากย้อนไทมไลน์เหตุการณ์ “โควิด” ตลอดทั้งปี 2564 เริ่มตั้งแต่ต้นปี ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ได้สั่งห้ามเข้าออกพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และ ตราด หลังพบการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ต่อเนื่องมาจนถึง “คลัสเตอร์คริสตัลคลับ” สถานบันเทิงย่านทองหล่อ – เอกมัย

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564
ขอบคุณภาพจากเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว และ M Dulapakorn

จากนั้นสถานการณ์โควิดเริ่มพีคต่อเนื่อง โดยยอดผู้ป่วยรายใหม่พุ่งขึ้นเป็นหลักหมื่น และพุ่งทะลุ 2 หมื่นรายต่อวัน และมียอดผู้เสียชีวิตทะลุร้อยรายต่อวันในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 หลังโควิดสายพันธุ์ “เดลต้า” เริ่มระบาดหนัก เกิดวิกฤติเตียงเต็ม ผู้ป่วยนับร้อยนับพันรายเริ่มมานอนรอหน้าห้องฉุกเฉิน รัฐบาลพยายามจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับแต่ก็ยังไม่สามารถรับมือได้ จนพบเห็นผู้ป่วยเสียชีวิตภายในบ้าน ยิ่งกว่านั้นเกิดเหตุสลดขึ้นต่อเนื่องเมื่อมีผู้ป่วยโควิดนอนเสียชีวิตข้างถนน

ทั้งนี้ “บิ๊กตู่” ได้ประกาศเดินหน้าฉีดวัคซีน โดยเคาะให้วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรกที่เริ่มปูพรมฉีดวัคซีนโควิดทั่วประเทศ โดยมีวัคซีนหลักในขณะนั้นคือ “ซิโนแวค” ทั้งนี้ล่าสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2564 มียอดฉีดวัคซีนทั่วประเทศรวม 103,894,611 ราย

ในเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนธันวาคม สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มกลับมาน่าวิตกอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน จนล่าสุด 29 ธันวาคม 2564 พบการติดโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” สะสม 934 ราย โดยมีแนวโน้มพบการติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากการเดินทางเข้าประเทศเริ่มชะลอตัว

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ขอความร่วมมือประชาชนในการระมัดระวังตัวเองขั้นสูงสุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” พร้อมขอความร่วมมือในการ Work from Home หลังฉลองปีใหม่

2. บริษัทประกันภัยโคม่า เจอพิษประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” 

ธุรกิจประกันภัย เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังเผชิญวิกฤติผลกระทบจาก โควิด-19 ที่ระบาดทั่วประเทศ ส่งผลให้มีการเคลมประกันภัย สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้บริษัทประกันภัย บางแห่งถึงกับขาดสภาคล่องทางการเงิน และความสามารถในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เคลมประกัน จุดที่ทำให้บริษัทประกันภัยหลายรายกุมขมับไม่ต่อแทบไม่ไหวมาจาก แผนการ “ประกันภัยโควิด-19  เจอ จ่าย จบ”  เดิมหลายบริษัทคงจะเชื่อว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย อาจจะไม่รุนแรง และคงคิดว่าบริษัทน่าจะมีรายได้ที่สวยงามจากกผู้ทำประกันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยแผนการขาย “ประกันภัยโควิด-19  เจอ จ่าย จบ” มีอย่างน้อย 16 บริษัทที่ขายประกัน “เจอจ่ายจบ”

แต่เมื่อสถานการณ์การแรพ่ระบาดของโควิด-19 ระบาดไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ยอดเคลมประกันสูงขึ้นตามไปด้วย จนทำให้หลายบริษัทต้องเผชิญกับพิษโควิด-19 ไปด้วย

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564

ข้อมูลล่าสุด นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีกรมธรรม์ประกันโควิดรวมทั้งสิ้น 44 ล้านกรมธรรม์ (รวมปี 2563-2564) เบี้ยประกันภัยรวม 11,000 ล้านบาท ยอดเคลมทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท  ปัจจุบันมีประกันโควิดแบบ “เจอจ่าย จบ”  เหลืออยู่ประมาณ 7 ล้านกรมธรรม์ ที่ยังมีผลความคุ้มครองอยู่ ทุนประกันภัยเฉลี่ย 50,000-100,000 บาท สิ้นสุดรับประกันภายในเดือนมิถุนายน 2565

ขณะที่ข้อมูลก่อนหน้านี้สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนบริษัทสมาชิกที่มี ประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอจ่าย จบ”  ให้ประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบจากกรมธรรม์ ที่ยังมีผลคุ้มครองจนถึง มิถุนายน 2565 เนื่องจากยอดเคลมสินไหมทั้งระบบสิ้นเดือนตุลาคม 2564 สูงถึง 32,000 ล้านบาท ประเมินด้วยว่าภายในสิ้นปี 2564 อาจสูงถึง 40,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26-30% ของเงินกองทุนทั้งหมด  อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในบริษัทประกันภัยที่มีประกันโควิด เจอ จ่าย จบ อีกหลายแห่ง ไปแล้ว

3. ผู้กำกับโจ้ ถุงดำคลุุมหัว ทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต 

อีกหนึ่งเรื่องราวสุดอื้อฉาวแห่งปี 2564 ของวงการสีกากี ที่เรียกเสียงวิจารณ์สนั่นประเทศ กับเหตุการณ์ “ผู้กำกับโจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล  ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์  และพวก ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหายาเสพติด จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย

เรื่องราวที่ดับชีวิตราชการอันรุ่งโรจน์ ของนายตำรวจหนุ่มรายนี้เกิดขึ้น เมื่อทนายความชื่อดัง ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ได้โพสต์คลิปแฉ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ พร้อมลูกน้อง เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ต้องหาค้ายาเสพติด 2 ล้านบาท แต่ผู้ต้องหาไม่ยินยอม เนื่องจากจ่ายได้แค่ 1 ล้านเท่านั้น จึงถูกทรมาน ด้วยการใช้ถุงดำคลุมหัวจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564

ต่อมาผู้กำกับโจ้ และลูกน้องได้แยกย้ายกันหลบหนี ก่อนที่ตำรวจจะไล่ล่าตามจับได้ทีละคน ส่วน ผู้กำกับโจ้ ได้ติดต่อขอเข้ามอบตัว ระหว่างให้ปากคำ เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และอ้างว่า ไม่มีเรื่องเงินมากเกี่ยวข้อง แต่ที่ทำไปเพราะต้องการเอาข้อมูล เพื่อจะขยายผลการสืบสวนเรื่องยาเสพติดที่ทำลายพี่น้องประชาชน และขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังทำให้มีอีกหลายคน ออกมาอ้างว่า เคยโดนผู้กำกับโจ้ และพวก กระทำแบบเดียวกันนี้ ทั้งตำรวจยังขยายผลการสืบสวน ไปจนถึงเรื่องที่มาที่ไปของทรัพย์สินที่มีอยู่ และการทำงานในอดีต หลังตรวจพบฐานะร่ำรวยผิดปกติ มีเงิน และทรัพย์สินที่ได้มาจากสินบนรางวัลนำจับรถหรู และการประมูลรถหรูมากกว่า 600 ล้านบาทอีกด้วย

สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน กองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้สั่งฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ และพวก 7 คน ทั้งสิ้น 4 ข้อหา ตามที่พนักงานสอบสวนส่งมา คือ เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ  ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย  และร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ข่มขืนใจผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย

4. ฮีโร่เหรียญทอง ‘น้องเทนนิส’

เป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่รอบปี 2564 สำหรับคนไทยทั้งประเทศที่ปลื้มอกปลื้มใจ หลัง “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ใน การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จนกลายเป็น ฮีโร่เหรียญทองเทควันโดโอลิมปิกเกมส์ สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทอง กีฬาเทควันโด ในรุ่น 49 กก.หญิง มาให้คนไทยได้ชื่นใจกันทั้งประเทศ “น้องเทนนิส” ถือเป็น “ฮีโร่เหรียญทอง” คนที่ 10 ของประเทศไทย

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564

หลังคว้าเหรียญทองกลับมา ทางกองทัพอากาศ  ได้ติดยศ “เรืออากาศตรีหญิง” ให้กับ”น้องเทนนิส” ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าหลังเลิกรับใช้ชาติ ในฐานะนักกีฬาแล้ว  จะไปรับใช้ชาติ ในฐานะข้าราชการของประชาชน  ตอนนี้ “น้องเทนนิส” กลายเป็น เรือกาอากศตรีหญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ไปเรียบร้อยแล้ว

5. ม็อบชุมนุมยืดเยื้อตลอดปี-ลั่นปี 65 ปีทองของการชุมนุม

อีกหนึ่งข่าวเด่นในรอบปี 2564 นั่นคือ การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาร่วม 2 ปี นอกจากข้อเรียกร้องทางการเมืองต่อรัฐบาล บางกลุ่มก็ล่วงเกินไปก้าวล่วงสถาบัน จนมีผู้ไปร้องต่อศาลให้สั่งยุติการกระทำ

การชุมนุมทางการเมือง เป็นการรวมตัวของประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็น นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมือง เพื่อแสดงความเห็น และมีข้อเรียกร้องปฏิรูปทางการเมืองควบคู่กับข้อเรียกร้อง ต่อมาตรการของรัฐบาล ในการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) การชุมนุมบนท้องถนนที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการปราศรัย การเดินขบวน การสร้างกิจกรรมบนถนน ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง

10 ข่าวเด่นรอบปี 2564

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลขึ้นเรียกว่าเกือบทุกสัปดาห์ก็ว่าได้  จากกลุ่มต่างๆ อาทิเช่น กลุ่มคาร์ม็อบ กลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่มทะลุฟ้า  ดังนั้นจะเห็นว่าข่าวการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องปี 2564 หรือเกือบทุกสัปดาห์ในช่วงหลังๆ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโคงิด-19 ก็ตาม

อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564  กลุ่มเครือข่ายราษฎร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, กลุ่มสลิ่มกลับใจ, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และ We Volunteer ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุม ยกเลิก 112  นัดหมายชุมนุม”ราษฎรพิพากษามาตรา 112″ เพื่อเรียกร้องยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และเรียกร้องให้คืนสิทธิการประกันตัวชั่วคราว แก่นักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในเรือนจำ จากการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย บอกว่า “ปี 2565 จะเป็นปีทองของการชุมนุม”

 6. ปลดล็อก “กระท่อม” พ้นบัญชียาเสพติดตาม “กัญชา”

หลังจากที่ถกเถียง และผลักดันกันมาอย่างยาวนาน ในที่สุด กระท่อม ก็ถูกถอดชื่อออกจากทะเบียนยาเสพติด ตามหลังกัญชา ที่ถูกถอดชื่อออกมาก่อนหน้านั้นแล้ว เปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้นำไปใช้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรค และประโยชน์ในทางการแพทย์ได้

การพ้นบัญชียาเสพติด ยังทำให้กระท่อม และกัญชา รวมไปถึง กัญชง ถูกผลักดันให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ มีการวิจัยเพิ่มมากขึ้น แต่การใช้ประโยชน์จากพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ ยังมีข้อจำกัดบางประการ

ในส่วนของ กระท่อม นั้น หลังจากถูกยกเลิกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 สามารถใช้ด้วยการเคี้ยวใบ การต้มทำน้ำกระท่อม หรือชากระท่อมดื่มได้ตามวิถีท้องถิ่น

shutterstock 1499551265

อย่างไรก็ตาม ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 424/2564 ซึ่งยังห้ามใช้กระท่อมเป็นส่วนผสมของอาหาร จึงยังไม่สามารถนำมาประกอบอาหาร หรือต้มน้ำกระท่อมขายในเชิงอุตสาหกรรมได้ เพราะยังเป็นความผิดตามกฎหมายอาหารและยาอยู่

ก่อนหน้านี้ ในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ ที่ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยแยกกัญชงออกจากกัญชา เพื่อลดระดับการควบคุมกัญชาและกัญชง ให้สามารถนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ได้

ตามประกาศนี้ สิ่งที่ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีเพียง ช่อดอกของกัญชงและกัญชา และเมล็ดกัญชา ส่วนเมล็ดกัญชง ใบจริง กิ่งก้าน ราก เปลือก ลำต้น เส้นใย กากจากการสกัดไม่ถือเป็นยาเสพติด สารสกัด CBD หรือน้ำมันกัญชา ที่มีค่า THC ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด

7. “คลับเฮาส์” แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน้องใหม่ มาแรง

ช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสโซเชียลมีเดีย ที่ได้รับความนิยมขึ้นอย่างมาก ก็เกิดกระแส “คลับเฮาส์” (Clubhouse) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน้องใหม่ขึ้นมา  โดยมีรูปแบบของคอนเทนท์ เป็นเสียงเพียงอย่างเดียว ไม่มีภาพ  หรือข้อความ และเป็นเสียงที่มาจากการจัดรายการสด ไม่มีฟังย้อนหลัง เป็นเหมือนศูนย์รวมของ ห้องแชทพูดคุย ที่มีหัวข้อที่หลากหลาย จากทั่วโลก หลายภาษา มีคนตั้งห้องพูดคุยอยู่ตลอดเวลา

shutterstock 1904507458 e1640912059789

ฟีเจอร์ที่สำคัญ คือการควบคุมห้องแชท ผู้ที่เป็นผู้สร้างห้อง จะเพิ่มผู้ที่เป็นผู้ควบคุมห้อง (Moderator) ร่วมกับตนเองได้ โดยผู้ควบคุม จะสามารถโยกคน จากผู้เข้ามาฟัง ให้ขึ้นมาเป็นผู้ร่วมสนทนาได้ และสามารถโยกกลับลงไปเป็นผู้ฟัง (พูดไม่ได้) หรือปิดไมค์ผู้ที่กำลังพูดอยู่ชั่วคราวก็ได้เช่นกัน เรียกว่า ทำให้สามารถควบคุมห้องสนทนาได้

สิ่งที่ทำให้คลับเฮาส์ ถูกพูดถึงในวงกว้างในปีนี้ แม้จะเปิดตัวมาตั้งแต่เมื่อปี 2563 แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่าง อีลอน มัสก์ และมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก หันมาใช้แพลตฟอร์มนี้ด้วย ร่วมถึงคนดังในสหรัฐอีกหลายคน อาทิ  โอปราห์ วินฟรีย์ เดรก และจาเรด เลโต ทำให้มีกระแสดาวน์โหลดเกิดขึ้น และพูดถึงไปทั่วโลก

 8.  ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถึงเปิดประเทศ ความหวังฟื้นเศรษฐกิจไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไทยต้องล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสกัดโควิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะรายได้จากภาคท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนประเทศ

ดังนั้น การพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล และนำมาซึ่งโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ถือเป็นโครงการนำร่องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ดข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว ภายใต้เงื่อนไข สำคัญคือ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว และแสดงผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 เข้ามาท่องเที่ยว

LINE ALBUM เปิดประเทศ ๒๑๑๒๓๑

หลังจากนั้น รัฐบาลได้ประกาศขยายพื้นที่ท่องเที่ยว โดยใช้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ออกไปในหลายพื้นที่ เริ่มจากการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ อย่างสมุย โมเดล ที่เปิดให้เที่ยวพื้นที่ 3 เกาะดังของ จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ในเส้นทางที่กำหนด (Sealed Routes)ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

จากนั้น จึงขยายผลสู่โครงการ “7+7 ภูเก็ต เอ็กซ์เทนชั่น” (7+7 Phuket Extension) เที่ยวเชื่อมโยงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ครบ 7 วันแรก สามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่พื้นที่นำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า), จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) และ จังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาว) เริ่มเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564

ก้าวสำคัญคือ การประกาศเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เริ่มจาก 46 ประเทศความเสี่ยงต่ำ และเพิ่มเป็น 63 ประเทศที่เข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว พร้อมววงเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทย 1 ล้านคนในปี 2564

แต่แล้ว โอไมครอน ที่เริ่มแพร่ระบาดในโค้งสุดท้ายเดือนธันวาคม กลายเป็นฝันร้ายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจงดรับนักท่องเที่ยวรายใหม่ Test & Go ตั้งแต่ 22 ธันวาคมเป็นต้นไป เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโอไมครอน ที่เริ่มระบาดในประเทศไทย จากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลย้ำว่า มาตรการกระชับความเช้มงวด ไม่ได้เป็นการปิดประเทศ เพราะผู้เดินทางได้รับ QR Code จากระบบ Thailand Pass แล้ว ยังสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ตามเดิม หรือสามารถเลือกเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Phuket Sandbox หรือ Alternative Quarantine (AQ) เพื่อความปลอดภัย

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุด ศบค.สรุปการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน-29 ธันวาคม2564 มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยยอดสะสม 403,912 คน มีผู้ติดเชื้อ 1,227 ราย แยกเป็นกลุ่ม Test&Go 333,815 คน ติดเชื้อ 813 ราย, แซนด์บ็อกซ์ 58,778 คน ติดเชื้อ 165 ราย,อยู่ระหว่างกักตัว (Quarantine) 11,319 คน ติดเชื้อ 249 ราย

สำหรับ 10 ประเทศต้นทางที่เดินทางเข้ามามากสุด ได้แก่ เยอรมนี 24,119 ราย สหราชอาณาจักร 18,764 ราย รัสเซีย 15,088 ราย สหรัฐอเมริกา 10,913 ราย สิงคโปร์ 10,535 ราย ฝรั่งเศส 9,635 ราย สวีเดน 9,554 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 8,157 ราย เกาหลีใต้ 6,839 ราย ออสเตรเลีย 6,637 ราย

 9. เรื่องวุ่นจัดซื้อ ATK ถล่มยับประเด็นคุณภาพ

อีกประเด็นเด่นในรอบปี ต้องยกให้กับ การจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็ว หรือ แอนติเจนเทสต์คิต (ATK) ระหว่าง องค์การเภสัชกรรม กับบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ในเครือณุศาศิริ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงเรื่อวคุณภาพ โดยเฉพาะการคัดค้านจากชมรมแพทย์ชนบท

LINE ALBUM cell virusโควิดใน ม ๒๑๑๒๓๑

ทั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกมาคัดค้านและตั้งข้อสังเกตในเรื่องคุณภาพของชุดตรวจ Lepu โดยเฉพาะกรณีที่ถูกเรียกเก็บสินค้าจากตลาด ขององค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา รวมทั้งกระบวนการจัดซื้อที่หลาย ๆ ฝ่ายยังมีความคลางแคลงใจ และอาจไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย

จุดเริ่มต้นของการจัดซื้อ ATK มาจากวันที่ 27 สิงหาคม 2564 โรงพยาบาลราชวิถีได้ประกาศการจัดซื้อดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ที่เป็นการเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ 2564 ในโครงการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ โครงการโควิด-19 จำนวน 1 รายการ โดยงบประมาณโครงการเท่ากับ 602 ล้านบาท

จากนั้น วันที่ 26 สิงหาคม 2564 องค์การเภลัชกรรม ได้ระบุว่า คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาฯ ได้เห็นชอบราคาชุดตรวจ ATK ที่องค์การเสนอ พร้อมได้ให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจัดซื้อจากองค์การเภลัชกรรมต่อ

นำมาซึ่งการลงนามสั่งซื้อชุดตรวจ ATK แบรนด์ LEPU จาก เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 จำนวน 8.5 ล้านชุด และเริ่มกระจายให้กับประชาชน เน้นกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก รวมถึงการจำหน่ายในราคาถูกผ่านช่องทางออนไลน์ขององค์การเภสัชกรรม ในราคาชุดละ 40 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะจบเรื่องการเซ็นสัญญาซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ก็ยังคงมีประเด็นเรืองคุณภาพสินค้า ตามมาอีกเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะความเป็นห่วงเรื่องการแปลผลผิดพลาด ให้ผลลบลวง ผลบวกลวง ซึ่งอาจส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวจากผู้ติดเชื้อ

 10. มหากาพย์ โมเดอร์นา การรอคอยที่ยาวนาน

วัคซืนโมเดอร์นา เป็นอีกวัคซีนความหวังของคนไทย ที่ใช้เวลารอคอยเกือบปี จนล่าสุดล็อตแรกได้เดินทางมาถึงไทยแล้ว  560,200 โดส เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

จุดเริ่มต้นของโมเดอร์นาในไทย เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ไทยได้มีการติดต่อโดยตรงไปยังบริษัทโมเดอร์นา อิงค์ เพื่อแสดงความจำนงนำเข้าวัคซีน และจองวัคซีนให้เข้ามาช่วงเดือน มิถุนายน โดยโมเดอร์นา ตอบกลับมาว่า จากความต้องการสูงทั่วโลก ทำให้ไทยอาจจะได้รับวัคซีนไตรมาสแรกของปี 2565

LINE ALBUM วัคซีนโควิดรพ.สนาม ๒๑๑๒๓๑

ต่อมาเดือนเมษายน บริษัทโมเดอร์นา แจ้งว่า ในการค้ากับไทย ให้เจรจากับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทยเป็นตัวแทนผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว

ในช่วงต้นเดือน พฤษภาคม บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขออนุมัติการใช้ฉุกเฉินในประเทศไทย และ อย.ได้รับขึ้นทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564

จากนั้น จึงเกิดประเด็นดราม่า น.พ.บุญ วนาสิน เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลในเครือ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ที่ออกมาเปิดเผยว่า ได้เจรจานำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา จากไบออนเทค เมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม 2564

แต่หลังจากนั้น ในวันที่ 15 กรกฎาคม ทางไบออนเทคของเยอรมนี ปฏิเสธข่าวอยู่ระหว่างเจรจาขายวัคซีนโควิดกับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จนทำให้กลายเป็นประเด็นที่ถูกสังคมมองว่า ปั่นหุ้น จนเรื่องเงียบหายไปในที่สุด

ขณะที่ไทยเดินหน้าเจรจาซื้อโมเดอร์นา ผ่านองค์การเภลัชกรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปลายเดือน มิถุนายน ได้จัดทำร่างสัญญาซื้อขายระหว่าง องค์การเภสัชฯ กับ บริษัท ซิลลิก ฟาร์มา โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมีมติ กำหนดราคาวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาอยู่ที่ 1,700 บาทต่อเข็ม (3,400 บาทเพื่อฉีดครบโดส)

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 องค์การเภสัชฯ และบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ลงนามในสัญญาซื้อขาย อย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวน 5 ล้านโดส และนำเข้าล็ตแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จำนวน 560,2 แสนโดส

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight