Politics

ยกฟ้อง ‘มายด์ ภัสราวลี’ รอดผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม็อบ 21 ตุลา

ศาลพิพากษายกฟ้อง “มายด์ ภัสราวลี” รอดผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชุมนุม 21 ตุลา ไปอนุสาวรีย์ ยื่นหนังสือให้ นายกฯลาออก เชื่อเป็นบรรทัดฐานคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ที่ศาลแขวงดุสิต ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีแขวงดุสิต เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4  แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกคณะประชาชนปลดแอก เป็นจำเลย ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง

S 1122508 1

กรณีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 จำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากการบริหารประเทศ

วันนี้ น.ส.ภัสราวลี ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมให้สัมภาษณ์กับก่อนเข้าห้องพิจารณา ว่า ระหว่างการนำสืบตนได้ยืนยันในหลักการของประชาชนที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพราะประชาชนทนไม่ไหว ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ทำได้ ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไรและผลจะออกมาเป็นอย่างไร อยากให้รอติดตาม เพราะคดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการพิพากษาส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง และคาดว่าจะส่งผลต่อคดีอื่นๆ ของเพื่อนด้วย คาดว่าผลการตัดสินสามารถออกได้หลายรูปแบบ ทั้งในมุมของการได้รับความยุติธรรมและมุมเกมการเมือง เพราะคดีนี้เป็นคดีทางการเมืองที่ไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ภายหลังฟังคำพิพากษา น.ส.ภัสราวลี เปิดเผยว่า ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องตน เนื่องจากศาลเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ที่มีการประกาศออกมาจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์นั้นฉุกเฉินและร้ายแรงจริงๆ ถึงจะบังคับใช้ได้ และการชุมนุมของประชาชนที่เกิดขึ้นในวันนั้น ก็ไม่เข้าข่ายการชุมนุมมั่วสุม เพราะการมั่วสุมต้องเป็นการรวมตัวกันและมีเจตนาที่ไม่ดี การชุมนุมวันนั้นเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้

S 1122503 e1639375484269

น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่ามั่นใจว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานส่วนหนึ่ง ในการตัดสินคดีอีกหลายคดีที่เกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะการชุมนุมของประชาชน เป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและสามารถพึงกระทำได้ เชื่อว่าคำพิพากษาส่งท้ายปีในครั้งนี้ จะเป็นการเติมกำลังใจให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิของตัวเอง เพราะหลังจากนี้ประชาชนจะมาทวงคืนอำนาจของประชาชนเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight