ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แจ้งจะเริ่มการวิจัยทางคลินิก COVID-19 Vaccine Booster ด้วยวัคซีนโมเดอร์นา ในเดือนธันวาคม 2564 นี้
เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แจ้งว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเริ่มทำการวิจัยทางคลินิกด้วย วัคซีนโมเดอร์นา เพื่อใช้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรคนไทยที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แบบ Primary series (วัคซีนป้องกันโควิดพื้นฐาน) ครบ 2 โดสมาแล้ว 3 – 6 เดือน ในเดือนธันวาคม 2564 นี้ โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ครบสองเข็ม และผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ (viral vector vaccine) ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ครบสองเข็ม

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบและยอมรับในเชิงวิชาการว่า ภูมิคุ้มกันหลังจากได้รับวัคซีน Primary series จะลดระดับลง ตามระยะเวลาที่ผ่านไป หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สอง ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของสายพันธ์ุเดลต้ายังคงเป็นปัญหาในปัจจุบันและยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเพิ่มระดับของภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังจากที่ได้รับวัคซีน Primary series มาครบแล้ว จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการติดเชื้อในปัจจุบันและต่อเนื่องในปี 2565
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการทำวิจัยในประเทศต่างๆ อยู่บ้างในการใช้วัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่สาม แต่วัคซีนแบบ Primary series ในประเทศต่างๆ ทั้งในอเมริกา หรือยุโรป นั้นมีความแตกต่างจากประเทศไทย การวิจัยทางคลินิกในครั้งนี้จะเป็นการใช้วัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นภูมิกับกลุ่มบุคคลที่ได้รับวัคซีนชนิดที่ใช้อยู่ในประเทศไทยจริงๆ ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าว จะช่วยแสดงหลักฐานทางวิชาการเพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และเพื่อประโยชน์ในการวางแผนกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับประชาชนคนไทยในปีหน้านี้ รวมทั้งวางแผนควบคุม ป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม
- อย่าประมาท! ‘หมอนิธิ’ เตือนใส่หน้ากาก ระวังการระบาดกลับมาอีกครั้ง
- ตะลึง!! บ้านเป็นแหล่งแพร่โควิดสูงสุด ติดเชื้อนอกบ้าน 1 คน แพร่ต่อในบ้าน 7-8 คน
- บทเรียน ผลบวกลวง ‘หมอมนูญ’ แนะตรวจ ATK ควรใช้เฉพาะเสี่ยงสูง มีโอกาสติดเชื้อ