Politics

ไทยเผยโฉมตราสัญลักษณ์ เจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565

รัฐบาลเปิดตัวตราสัญลักษณ์ การเป็นเจ้าภาพของไทยในการประชุมเอเปค ปี 2565 ภายใต้ธีมหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดตัว ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพของไทย สำหรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ปี 2565 (APEC2022 Thailand)

ประชุมเอเปค ปี 2565

สำหรับหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open. Connect. Balance.

ทั้งนี้ ไทยประกาศความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพของไทย และนับเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้ใช้เวทีดังกล่าวแสดงบทบาทนำในการร่วมขับเคลื่อน กำหนดนโยบาย และทิศทางของภูมิภาคให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลก

นอกจากนี้ ยังเป็นการขับเคลื่อนการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติโรคโควิด-19 ไปสู่อนาคต โดยร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปค ทั้งหมด 21 เขต ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งนับเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก มี GDP รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

ขณะเดียวกัน ยังได้มอบรางวัลให้แก่นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์ เอเปค ปี 2565

ตราสัญลักษณ์ APEC2022 Thailand ออกแบบภายใต้แนวคิดเส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันขึ้นมาเป็นภาชนะคล้ายชะลอม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการค้าขายที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งการสานที่มีความแข็งแรงและคงทน เปรียบเสมือนความร่วมมือของสมาชิกเอเปค

IMG 48411 20211118152259000000

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพ ประชุมเอเปค ปี 2565

1. เพิ่มบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ

2. สร้างช่องทางในการผลักดันท่าที ส่งเสริม และป้องกันผลประโยชน์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนร่วมกำหนดมาตรฐานและนโยบายในประเด็นใหม่ๆ ของบริบทโลก

3. การลดอุปสสรคและส่งเสริมโอกาสทางการค้า การลงทุนของไทยกับเศรษฐกิจเอเปคและประเทศที่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

4. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา วิทยาศาสตร์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

5. ใช้ประโยชน์จากเอเปคในฐานะแหล่งบ่มเพาะแนวคิด เพื่อก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน โดยมีเป้าหมายหลักของเอเปคคือ วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 รวมทั้งการจัดทำเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ( Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP)

6. แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ผ่านคณะทำงานต่างๆ รวมถึงเข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยในการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและภูมิเศรษฐศาสตร์รวมถึงเครือข่าย think tank ที่สำคัญ

7. ใช้ประโยชน์จากเอเปค ในฐานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัย เป็นสากล รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพในมิติต่างๆให้แก่ภาครัฐและเอกชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo