Politics

‘ธปท.’ ประสาน ‘สมาคมแบงก์’ ยกระดับเข้มป้องสวมรอยธุรกรรมการเงิน

“โฆษกรัฐบาล” เผย แบงก์ชาติประสานสมาคมธนาคาร ยกระดับป้องกันการสวมรอยธุรกรรมการเงิน หลัง “นายกรัฐมนตรี” กำชับสถาบันการเงินช่วยดูแลประชาชน ล่าสุดจ่ายเงินคืนครบทุกรายแล้ว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้ากรณีมิจฉาชีพสวมรอยทำธุรกรรมการเงิน มีการตัดเงินผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารจำนวน 10,700 ใบ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 130 ล้านบาท

ธนกร2410641

ทั้งนี้ จากที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการยกระดับการป้องกันการทำธุรกิจกรรมการเงิน ผ่านช่องทางระบบออนไลน์และบัตรเครคิต รวมทั้งขอให้สถาบันการเงินช่วยดูแลประชาชนที่ได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งได้รับรายงานว่า ธนาคารได้คืนเงินให้ลูกค้าบัตรเดบิตที่ได้รับความเสียหายครบทุกรายแล้ว ในส่วนของบัตรเครดิตได้ตั้งพัก เร่งตรวจสอบ และยกเลิกรายการ โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็วที่สุดต่อไปด้วย

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยประสานกับสมาคมธนาคารไทย ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนแล้ว ได้แก่ (1) ตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ครอบคลุมธุรกรรมที่มีจำนวนเงินต่ำและที่มีความถี่สูง (2) ติดตามเฝ้าระวังรายการธุรกรรมจากต่างประเทศเป็นพิเศษ (3) แจ้งเตือนลูกค้าในการทำธุรกรรมทุกรายการตั้งแต่รายการแรก และ (4) ประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันความเสี่ยง เช่น การปรับวงเงินในบัตรให้เหมาะสมกับการใช้จ่าย หลีกเลี่ยงการผูกบัตรกับเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่ไม่น่าไว้ใจ

นอกจากนี้ ธปท. และสมาคมธนาคารไทยจะผลักดันให้ผู้ให้บริการบัตรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการบังคับใช้การยืนยันตัวตนก่อนทำรายการชำระเงินกับบัตรเดบิตสำหรับทุกร้านค้าออนไลน์ โดยเฉพาะร้านค้าในต่างประเทศ เช่น การใช้เลข OTP ยืนยันตัวตนก่อนร้านค้าทำการตัดบัญชี รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันและตรวจจับภัยคุกคามทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วย

บัตรเครดิต2210641

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฝากเตือนประชาชนถึงภัยออนไลน์ โดยเฉพาะภัยจากธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ เนื่องจาก ปัจจุบันระบบการเงินของไทยมีการก้าวหน้ามาก รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาให้บริการ ทำให้การใช้จ่ายผ่านออนไลน์ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ สะดวกรวดเร็ว เป็นโอกาสให้มิจฉาชีพสมัยใหม่ใช้ช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัลทุจริต ลักทรัพย์ หรือหลอกลวง ให้ยืมเงิน ชักชวนเล่นการพนันหรือลงทุน

“จึงอยากให้ประชาชนศึกษา ทำความเข้าใจ เพิ่มความระมัดระวังการทำธุรกรรมออนไลน์ ไม่หลงกลหรือตกเป็นเหยื่อยการโฆษณา รวมทั้งต้องหมั่นตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วย ขณะนี้กระทรวง ดีอี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังติดตามผู้กระทำผิดรวมทั้งจะมีการขยายผลถึงเครือข่าย เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป” นายธนกร กล่าว

อนึ่ง การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 เพื่อเร่งจับกุมผู้กระทำความผิด และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo