Politics

‘บิ๊กตู่’ โพสต์ตั้งใจลงพื้นที่พบประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงโดยตรง!

“นายกรัฐมนตรี” โพสต์ระบุตั้งใจจัดสรรเวลาลงพื้นที่เยี่ยมเยือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อได้เห็นด้วยตา รับฟังข้อเท็จจริงโดยตรง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha ระบุว่า พี่น้องประชาชนที่รักครับ หลังจากที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และเราเตรียมความพร้อมในการเปิดเมือง เปิดประเทศ ผมจึงมีความตั้งใจว่าจะจัดสรรเวลาลงพื้นที่เยี่ยมเยือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ประสบภัย หรือทุกพื้นที่ที่มีปัญหา เพื่อจะได้เห็นด้วยตา รับฟังข้อเท็จจริงโดยตรง รวมทั้งติดตามการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และขจัดอุปสรรคให้กับข้าราชการระดับปฏิบัติด้วย ซึ่งจะช่วยให้การบริหารราชการแผ่นดินมีความสมบูรณ์ เติมเต็มการขับเคลื่อนจากส่วนกลาง

นายกรัฐมนตรี

โดยผมได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำหลากในจังหวัดสิงห์บุรี เมืองแห่งวีรชนค่ายบางระจันของเราคนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 17 จังหวัด ที่มีแผนงานและโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง 13 ปี (พ.ศ.2560-2572) รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง มีพื้นที่รับน้ำ 1.15 ล้านไร่ ทำหน้าที่เป็น “แก้มลิง” ตามแนวทางพระราชดำริ สามารถหน่วงน้ำได้กว่า 1,500 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ปัจจุบันทุ่งฝั่งตะวันออกรับน้ำแล้ว 425.38 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งฝั่งตะวันตกอีก 860.26 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ยังคงเหลือขีดความสามารถในการรองรับน้ำได้อีกราว 214 ล้าน ลบ.ม. ส่วนในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย รัฐบาลก็จะมีการจ่ายค่าทดแทน หรือค่าชดเชยความเสียหายให้ โดยหากจะเปรียบเทียบมูลค่างบประมาณที่ใช้ในการชดเชยนี้ กับความเสียหายที่จะเกิดจากอุทกภัยแล้ว นับว่าใช้จ่ายไปได้อย่างเหมาะสมและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอุทกภัยนั้นควบคุมได้ยาก สร้างความเสียหายกับพื้นที่การเกษตร ชุมชน เขตเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ ทรัพย์สินของประชาชน และโบราณสถานต่าง ๆ รวมทั้งการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพี่น้องประชาชน ก็เป็นสิ่งที่ประเมินค่าเป็นเงินเป็นทองไม่ได้

นายกรัฐมนตรี

ดังนั้น รัฐบาลจึงเลือกการบริหารสถานการณ์วิกฤตแบบควบคุมได้ และเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไข ที่สำคัญยังสามารถนำน้ำในทุ่งรับน้ำ มาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้อีกด้วย จึงนับว่าเป็นกุศโลบายในการแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ ในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้แล้ว เรายังมีความจำเป็นต้องมีแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละปี เช่นปีนี้ แผนการส่งน้ำเพื่อเพาะปลูก เริ่มต้นเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2564 และเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 หลังจากนั้น ตั้งแต่ช่วงปลาย ต.ค.เป็นต้นไป พื้นที่ลุ่มต่ำ หรือทุ่งต่างๆ ก็จะทำหน้าที่เป็น “แก้มลิง” รองรับน้ำหลากได้ ทั้งนี้ ประโยชน์จากการเลื่อนเวลาปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำนี้ มีหลายประการ เช่น

นายกรัฐมนตรี

  1. ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐจากอุทกภัย
  2. ตัดยอดน้ำ เพื่อบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  3. ลดความเสียหายผลผลิตข้าวจากอุทกภัย
  4. เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูเพาะปลูกรอบถัดไป

ในส่วนของจังหวัดสิงห์บุรีเอง ก็มีทั้งแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก แผนเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ และแผนเผชิญเหตุ เหมือนกับทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาคของประเทศ สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในขณะเดียวกันก็มีแผนงานและโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัด ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและจัดสรรงบประมาณลงมา ได้แก่

นายกรัฐมนตรี

  1. แผนปี 2561 – 2564 ประกอบด้วย 238 โครงการ วงเงินรวม 3,011 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 575 ไร่ และพื้นที่ได้รับการป้องกัน 10,219 ไร่
  2. แผนปี 2565 งบประมาณ 503.74 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 10,000 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ได้รับการป้องกัน 6,569 ไร่
  3.  โครงการเขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่าน เพื่อการเดินเรือ ซึ่งจะดำเนินการในปี 2567 วงเงิน 38,115 ล้านบาท เป็นต้น โดยจะบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของประเทศ ในภาพรวมด้วยครับ

นายกรัฐมนตรี

นอกจากการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เราต้องเจอทุกปี ผมขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับชาติบ้านเมือง และพี่น้องประชาชน โดยได้พยายามจับคู่และบูรณาการกัน เพื่อสร้างกลไกการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่น โครงการ “ส่งสุขภาพดีให้คนไทย จากใจไปรษณีย์ไทย” (Thailand Post Delivers Wellness) ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ริเริ่มทำงานเพื่อสนับสนุนนโยบายดิจิทัลส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข โดยใช้ศักยภาพจากเครือข่ายของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้แก่ ที่ทำการไปรษณีย์ ศูนย์ไปรษณีย์ และบุรุษไปรษณีย์ที่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วไทย แม้ในพื้นที่ห่างไกล ในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ ส่งน้ำยาล้างไต สิ่งส่งตรวจทางการแพทย์ หรือจัดส่งหน้ากากอนามัยให้แพทย์และพยาบาล เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นบริการฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่ง ผ่านแอปพลิเคชัน Track & Trace ได้ตลอด 24 ชม. ซึ่งในปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการแล้ว กว่า 400 แห่ง ทั่วประเทศ โดยในปี 2563 – 2564 มีปริมาณงานเฉลี่ยเกือบ 5 หมื่นชิ้น/เดือน (รวมทั้งสิ้นมากกว่า 1 ล้านชิ้นแล้ว) หากสถานพยาบาลใด มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อได้ทาง โทร. 02 831 3957 หรือทาง THP Contact Center 1545 นอกจากนี้ ยังได้มีการเริ่มโครงการ “โดรนส่งยา” เพื่อบริการให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการขนส่งอย่างมาก รวมถึงพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลด้วย ผมหวังว่าจะเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สำคัญและตอบโจทย์ความจำเป็นของเราในเวลานี้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน ที่จะร่วมกันพลิกโฉมประเทศไทย ให้พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในอนาคต

นายกรัฐมนตรี

ในการลงพื้นที่ของผมทุกครั้ง มาจากความตั้งใจอย่างเดียวของผม นั่นคือการได้ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องประชาชนด้วยตัวของผมเอง การได้พูดคุย รับฟังความคิดเห็น เห็นสภาพปัญหา ข้อร้องเรียนจากพี่น้องในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความเดือดเนื้อร้อนใจ ยิ่งเป็นแรงผลักดันที่เตือนใจผมตลอดเวลาว่าต้องพยายามให้มากขึ้น ทุ่มเทให้มากขึ้น และทำให้ดีขึ้นในทุก ๆ วันที่ยังอยู่ในตำแหน่งนี้

ผมยอมรับว่าปัญหาและอุปสรรคในประเทศของเราที่ยังต้องแก้ไขนั้น มีมาก แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เกิดและโตขึ้นมาในประเทศแห่งนี้ ผมได้เห็นประเทศที่รักของเราผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ด้วยแรงกายแรงใจ และความกล้าหาญของบรรพบุรุษ เช่นเดียวกับวีรชนเมืองสิงห์ที่ผมได้มาเยือน ผมจึงเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเราชาวไทย เป็น “ชนชาตินักสู้” หากเพียงแต่เราคนไทยทุกคน รวมพลังแห่งศรัทธา พลังแห่งความสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน ที่จะช่วยประสานเติมเต็มซึ่งกันและกัน เราสามารถที่จะแข่งขันกับทุกชาติในโลก ได้อย่างแน่นอนครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK