Politics

ป.ป.ช.เล็งเสนอแก้กฎหมาย ‘ยื่นทรัพย์สินไม่ต้องเปิดเผย’

ประธานป.ป.ช.ยอมรับ อาจเสนอสนช.แก้กฎหมายลูก ให้เจ้าหน้าที่รัฐยื่นทรัพย์สินแต่ไม่ต้องเปิดเผย เชื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถ้าไม่ให้ยื่นเลยคงยาก ด้าน “วิษณุ” เชื่อแก้ปัญหาปมยื่นทรัพย์สินทัน 31 มกราคม 2562

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง กรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า อาจมีเจ้าหน้าที่รัฐบางตำแหน่ง ไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพยสินและหนี้สิน ตามประกาศ ป.ป.ช. ว่า เบื้องต้น ป.ป.ช. ขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินออกไปอีก 60 วัน โดยมีผลบังคับใช้ 1 กุมภาพันธ์ 2562

แต่ถ้ายังมีปัญหาอยู่ อาจจำเป็นต้องเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 โดยอาจโยกตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องยื่นและเปิดเผยตามมาตรา 102 และ 106 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาอยู่ในมาตรา 103 คือ ยื่นแต่ไม่เปิดเผยแทน โดยเชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีในขณะนี้ หากดำเนินการตามแนวทางนี้ อาจทำให้สถานการณ์เบาลงไป แต่ถ้าจะให้ไม่ต้องยื่นเลยอาจเป็นไปได้ยาก

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า หากสามารถทำตามแนวทางข้างต้น จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางตำแหน่ง ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินสบายใจขึ้นมาระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ป.ป.ช. ยืนยันว่า ไม่ได้ยอมอ่อนข้อต่อรัฐบาล แต่ต้องยอมรับว่ากรณีนี้ มีคนได้รับผลกระทบ เช่น มหาวิทยาลัย เป็นต้น ดังนั้น ป.ป.ช. เข้าใจ จึงต้องหาทางออก เพื่อสร้างความสมดุลในเรื่องนี้

โดยยืนยันว่า กระบวนการตรวจสอบยังมีความเข้มข้น ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และคนทำงานสามารถทำงานต่อไปได้ โดยป.ป.ช. จะหาทางออกเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนโดยเร็วที่สุด ก่อนประกาศป.ป.ช. จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

นายวิษณุ เครืองาม
นายวิษณุ เครืองาม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความไม่ชัดเจน กรณีการแก้ไขปัญหาประกาศป.ป.ช. เกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ฉบับล่าสุด ที่อาจยกเลิกบางตำแหน่งว่า  ระหว่างนี้ที่มีการยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 นั้น เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร

เราได้แต่บอกคนที่จะลาออกว่าอย่าลาออก แต่คนที่จะลาออกนั้นเขาไม่ได้ติดใจประเด็นยื่นหรือไม่ยื่น

นายวิษณุ กล่าวว่าคนที่จะลาออก มีความประสงค์จะลาออกอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง จึงลาออกเพื่อให้มีการสรรหาใหม่ เพราะการสรรหานั้นต้องใช้เวลาพอสมควร จึงกลัวจะเกิดความวุ่นวายหากลาออกช้าเกินไป

รัฐบาลพูดได้อย่างเดียว คือ อย่าเพิ่งลาออก อาทิ กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พยายามยื้อด้วยการลงนามรับทราบการลาออก ของกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  แต่บางคนมีความชัดเจนมานานแล้วว่าจะลาออก จึงไม่สามารถยื้อเอาไว้ได้ ซึ่งบางคนให้เหตุผลว่าตั้งแต่ได้เป็นกรรมการ เข้าประชุมแค่ 1-2 ครั้ง จึงอยากจะลาออก ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแจ้งบัญชีทรัพย์สินฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่จะยกเว้นบางตำแหน่งไม่ต้องยื่น ประกอบด้วยตำแหน่งใดบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังไม่แจ้งมา แต่เป็นการพูดคุยกันในเบื้องต้น โดยป.ป.ช.จะประกาศใหม่ก่อนที่จะครบกำหนดในวันที่ 31 มกราคา 2562

Avatar photo