Politics

ครม.รับทราบการเร่งรัดเบิกจ่ายงบปี 64 ‘พม.’ ครองแชมป์เบิกจ่ายสูงสุด

ครม.รับทราบติดตามเร่งรัดเบิกจ่ายงบปี 64 เบิกจ่ายได้ 77.13% “กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ” ครองแชมป์เบิกจ่ายสูงสุด 81.48% ขณะที่ “กระทรวงการต่างประเทศ” เบิกจ่ายได้น้อยที่สุด 33.48%

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 2/2564 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 โดนพบว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายเงินปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 3,452,273 ล้านบาท จากวงเงิน 4,476,189 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77.13%

เบิกจ่ายงบประมาณ

แยกเป็นงบประมาณรายจ่ายปี2564 วงเงิน 3,285,963 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 2,488,890 ล้านบาท คิดเป็น 75.74% เป็นรายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้ว 2,168,515 ล้านบาท คิดเป็น 82.19% รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายแล้ว 320,375 ล้านบาท คิดเป็น 49.49% เงินกันไว้เหลื่อมปีเบิกจ่ายแล้ว 166,031 ล้านบาท คิดเป็น 77.60%

สำหรับเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายแล้ว 262,410 ล้านบาท คิดเป็น 78.33% และโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพี่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีแผนการใช้จ่ายที่วงเงิน 641,259 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 534,942 ล้านบาท คิดเป็น 83.42%

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2564 มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปรวม 103 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมด 2,544,708 ล้านบาท มีแผนการใช้จ่าย 190,245 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 96,675 ล้านบาท คิดเป็น 50.82%

เบิกจ่ายงบประมาณ

สำหรับกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่

  1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เบิกจ่ายได้ 81.48%
  2. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
  3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  5. กระทรวงคมนาคม
  6. สำนักนายกรัฐมนตรี
  7. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  8. กระทรวงสาธารณสุข
  9. กระทรวงพาณิชย์
  10. กระทรวงพลังงาน

ส่วนกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำสุด 10 อันดับ ได้แก่

  1. กระทรวงการต่างประเทศเบิกจ่ายได้ 33.48%
  2. กระทรวงยุติธรรม
  3. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  4. กระทรวงศึกษาธิการ
  5. กระทรวงมหาดไทย
  6. กระทรวงกลาโหม
  7. กระทรวงอุตสาหกรรม
  8. กระทรวงการคลัง
  9. กระทรวงแรงงาน
  10. กระทรวงวัฒนธรรม

เบิกจ่ายงบประมาณ

ด้านรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าจะมีปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2564 ได้แก่

  1. การรถไฟแห่งประเทศไทย
  2. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
  3. การประปานครหลวง
  4. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
  5. องค์การเภสัชกรรม
  6. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
  7. การท่าเรือแห่งประเทศไทย

ขณะที่ปัญหาอุปสรรคการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐที่สำคัญได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ทำให้ขาดแคลนแรงงานในการก่อสร้าง ประกอบกับหลายพื้นที่มีการประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในงวดงานต่างๆตามที่ระบุในสัญญา รวมทั้งไม่สามารถตรวจรับงานในพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า

สำหรับมาตรการแก้ไขการเบิกจ่ายล่าช้า ทางกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเร่งรัดการดำเนินการ และแจ้งเวียนมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น ให้หน่วยงานเจ้าของงบประมาณกำชับเจ้าหน้าที่บริหารจัดการเพื่อเร่งรัดการก่อหนี้และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 เพื่อไม่ให้เงินงบประมาณถูกพับไป เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo