Politics

ผลศึกษาฉีด ‘ไฟเซอร์เข็ม2’ 6 เดือนประสิทธิผลลดลง 12.5%

“หมอเฉลิมชัย” เผยรายงานการศึกษาของบริษัท Pfizer แจ้งว่า ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ หลังจากฉีดวัคซีนเข็มสองไปแล้ว 6 เดือน ลดลง 12.5% บราซิลและอาร์เจนตินา มีประสิทธิผลที่ต่ำสุดคือ 86%

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Chalermchai Boonyaleepun” เผยรายงานการศึกษาของบริษัท Pfizer แจ้งว่า ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ หลังจากฉีดวัคซีนเข็มสองไปแล้ว 6 เดือน ลดลง 12.5%

วัคซีนของบริษัท Pfizer มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อในการทดลอง ( Efficacy ) เฟสสาม ในอาสาสมัครสูงที่สุดคือ 95% แต่เป็นการติดตามผลเพียง 2 เดือน หลังจากฉีดวัคซีนเข็ม 2 เนื่องจากสถานการณ์โรคที่ระบาดรุนแรง จึงได้ยื่นขออนุมัติการฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) และได้ฉีดต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ จำนวนมากขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง (Real World) ประสิทธิผล (Effectiveness) ที่พบ ก็เริ่มลดลงมากน้อยไม่เท่ากัน จากความหลากหลายของแต่ละประเทศ ซึ่งมีปัจจัยแตกต่างกันไป ทั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่แตกต่างกัน กลุ่มบุคลากรที่มีความเสี่ยง และประชาชนทั่วไป ตลอดจนเชื้อชาติ โรคประจำตัวต่างๆ

หมอเฉลิมชัย 1

รายงานการศึกษาครั้งนี้ จึงน่าสนใจ เพราะเป็นการติดตามของบริษัท Pfizer เอง ในกลุ่มอาสาสมัครซึ่งฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ 27 กรกฎาคม 2563 ถึง 29 ตุลาคม 2563 จำนวน 45,441 คน จาก 152 หน่วยทดสอบ อยู่ในสหรัฐ 130 แห่ง ตุรกี 9 แห่ง เยอรมัน 6 แห่ง แอฟริกาใต้ 4 แห่ง บราซิล 2 แห่ง และอาร์เจนตินา 1 แห่ง โดยติดตามผู้ที่ได้รับวัคซีนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเป็นหลัก โดยมีอายุ 12-15 ปีเป็นส่วนน้อย จำนวน 2264 คน (และยังติดตามไม่ครบหกเดือน) พบว่า ประสิทธิผลเฉลี่ยหลังฉีดหกเดือน ลดลงจาก 95% เหลือ 91% แต่ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงประสิทธิผลสูงอยู่ในระดับ 97%

แต่ถ้าดูเป็นรายประเทศ จะพบว่า บราซิลและอาร์เจนตินา มีประสิทธิผลที่ต่ำสุดคือ 86%

เมื่อดูรายละเอียดที่เพิ่มมากขึ้น พบว่าประสิทธิผล (Efficacy)ขึ้นสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อในช่วงเจ็ดวันถึงสองเดือนหลังฉีด ได้ค่าเฉลี่ยประสิทธิผล 96.2% แต่เมื่อติดตามไปอีกสี่เดือนหลังจากนั้น รวมเป็นหกเดือนหลังฉีดเข็มที่ 2 พบว่าประสิทธิผลลดลงเหลือ 83.7% เป็นการลดลง 12.5% ในเวลา 4 เดือน หรือลดลง 6% ทุก 2 เดือน

ส่วนเรื่องผลข้างเคียงพบว่า ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน จะมีอาการมากกว่ากลุ่มไม่ฉีดวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาการไม่ได้รุนแรงมาก

จากการติดตามเพิ่มเติมจากสองเดือนเป็นหกเดือนหลังฉีด พบว่ามีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เหงื่ออกลางคืน และที่พบเป็นอาการใหม่ไม่เคยพบมาก่อนคือ มีเหงื่อออกที่ฝ่ามือ
ทาง Pfizer บอกว่า จะติดตามกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ไปอีกเป็นเวลาอย่างน้อยสองปี แล้วจะนำข้อมูลประสิทธิผลของอาสาสมัคร ( Efficacy ) ไปประกอบกับประสิทธิผลของการป้องกันในโลกแห่งความเป็นจริง ( Effectiveness ) จึงจะสามารถบอกได้ว่า จำเป็นจะต้องมีการฉีดกระตุ้นเข็มสามหรือไม่ และช่วงระยะเวลาควรห่างจากเข็มสองนานเท่าใด คงจะต้องติดตามกันต่อไป

240465382 4131415676907034 4247108812288857507 n

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight