Politics

ห้ามอะไร! ‘ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว’ 14 วัน พื้นที่สีแดง 10 จังหวัด

ประกาศศบค. 9 กรกฎาคม 2564 ใช้ยาแรงงัดมาตรการ “ล็อกดาวน์” 14 วัน  10 จังหวัดพื้นที่สีแดง “เคอร์ฟิว” ห้ามออกจากบ้าน 3 ทุ่มถึงตี 4  ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ร้านสะดวกซื้อ-ตลาดโต้รุ่ง เปิดได้ถึง 2 ทุ่ม-ห้างฯเปิดได้ซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยา-ปิดนวดสปา–ร้านเสริมสวย ขนส่งสาธารณะเปิดได้แค่ 3 ทุ่ม เริ่ม 12 ก.ค.นี้ 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 9/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการล็อกดาวน์ 14 วัน ในพื้นที่เสี่ยงสูง รวมถึงต้องลด และจำกัดการเดินทาง เพื่อลดการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

ประกาศศบค. 9 กรกฎาคม 2564

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการหารือที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมมีรายงานยกระดับการป้องกันโควิด-19 และปรับระดับพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ขณะนี้ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตของประเทศไทยเพิ่มขึ้น  ผู้ป่วยอาการหนักก็เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องพิจารณา

ประกาศศบค. 9 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมขอขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขต ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-30 กันยายน 2564 จะเสนอครม. วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมโรคติดต่อ บูรณาการความรับผดชอบและอำนาจหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ลดอัตราเสียชีวิตและจำนวนคนติดเชื้อ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั่วราชอาณาจักร  คือ จำกัดการเคลื่อนย้าย และการรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะพื้นที่ที่เข้าใจกันว่า “ล็อกดาวน์” การจำกัดเวลาการออกนอกเคหสถานที่เรียกกันว่า “เคอร์ฟิว” โดยการยกระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร มีทั้งปรับระดับสีพื้นที่ และมาตรการย่อยตามพื้นที่ต่างๆ เริ่มมีผลวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป

ประกาศศบค. 9 กรกฎาคม 2564 ใช้ยาแรงงัดมาตรการ “ล็อกดาวน์” 14 วัน  10 จังหวัดพื้นที่สีแดง

งดเดินทาง- ขนส่งปิด 3 ทุ่ม 

ที่ประชุม ศบค.ยังมีมติกำหนดมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย

1. จำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มบุคคลให้มากที่สุด โดยกำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนใช้การปฏิบัติงานในลักษณะเวิร์คฟรอมโฮมให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน เฉพาะใน 6 จังหวัดคือ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระบบขนส่งสาธารณะปิดให้บริการถึงเวลา 21.00 – 03.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

สะดวกซื้อ-ตลาดโต้รุ่งปิด 2 ทุ่ม 

ประกาศศบค. 9 กรกฎาคม 2564

ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีนเปิดถึงเวลา 20.00 น.

ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้านเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.

ปิดสถานที่เสี่ยงติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม สวนสาธารณะเปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.

ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพหรือกิจกรรมตามประเพณีรวมกันเกิน 5 คน ขณะที่สถานศึกษาใน 10 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ให้เรียนออนไลน์เท่านั้น

เคอร์ฟิว 3 ทุ่มถึงตี 4 มีผล 12 ก.ค.นี้

2.ให้บุคคลงดเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นยิ่ง หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี ในส่วนนี้คือ ห้ามใน 10 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

3. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของศบค.ที่ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้

4. กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (DMHTTA) อย่างสูงสุด

5. ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ 1-4 ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม เป็นต้นไป

6. ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป ฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

Curfew lockdown 210710 e1625910289562

ปรับพื้นที่ระบาดโรคใหม่ 4 ระดับ

การยกระดับพื้นที่สถานการณ์ในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เริ่มใช้วันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ประกอบด้วย

1. การปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด (คงเดิม) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา

2. พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 19 จังหวัด) ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อุทัยธานี

3. พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 16 จังหวัด) ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตราด บุรีรัมย์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สตูล สระแก้ว สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี

4. พื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด (ลดลง 39 จังหวัด) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ นครพนม น่าน บึงกาฬ พะเยา พังงา แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ลำปาง ลำพูน สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์

อ่านข่างเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight