Politics

‘องค์การเภสัชกรรม’ แจงปมร้อน!! เหตุยังไม่เซ็นสัญญา ‘โมเดอร์นา’

“องค์การเภสัชกรรม” แจงปมร้อนเหตุยังไม่เซ็นสัญญา “โมเดอร์นา” ชี้ต้องรอยอดจากโรงพยาบาลเอกชน คาดต้นเดือนสิงหาคมได้เซ็นสัญญา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม และนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมแถลงประเด็นสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดย นพ.วิฑูรย์ กล่าวถึงการดำเนินการเรื่องวัคซีนทางเลือกของ “องค์การเภสัชกรรม” ว่า วัคซีนจะแบ่งเป็นวัคซีนที่รัฐจัดหาจะมีอยู่ 5 ยี่ห้อคือ แอสตราเซเนกา ซิโนแวค และเพิ่มเติมอีก 3 ยี่ห้อคือ ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุตนิก ไฟว์

นพ.วิฑูรย์7364

ส่วนวัคซีนทางเลือกที่เอกชนนำเข้าเองคือ โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม ก่อนการระบาดใหญ่ เราทำงานเชิงรุกไปตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้ติดต่อ และแสดงความจำนงโดยตรงไปที่บริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา และได้รับแจ้งว่า ทางบริษัท จะสามารถส่งมาได้เร็วที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2565 นอกจากนี้ องค์การเภสัชฯ ยังได้ติดต่อวัคซีนอื่นอย่างน้อย 2 ยี่ห้อ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะซัพพลายให้ทันในปีนี้ แต่เราก็พยายามจะติดต่อให้ได้หลายชนิด โดยยังผลิตเองในประเทศไทยด้วย

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ส่วนที่มีโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง ระบุว่าสามารถติดต่อซื้อวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นา ได้โดยตรงนั้น ขอชี้แจงว่า การนำเข้าวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา จะต้องติดต่อผ่านบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนบริษัทนำเข้าวัคซีคโมเดอร์นาเท่านั้น ต่อมาที่วันที่ 15 พฤษภาคม ทางบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้แถลงว่า การซื้อวัคซีนจะต้องติดต่อผ่านทางภาครัฐเท่านั้นทำให้องค์การเภสัชฯ ถูกมอบหมายเป็นตัวแทน ดังนั้น วัคซีนโมเดอร์นา จะมีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัดผู้นำเข้า และเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทะเบียน ไม่ใช่วัคซีนขององค์การเภสัชฯ เราเป็นเพียงตัวแทนภาครัฐที่จะนำมาขายต่อให้กับเอกชน

IMG 20210703135715000000

จากการเจรจา เราได้รับทราบว่าวัคซีนโมเดอร์นาจะมาเร็วก่อน 1 ไตรมาส คือ ไตรมาส 4 ของปี 2564 เนื่องจากวัคซีนตัวนี้ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ จึงทำให้ได้รับมอบช้า เพราะเราต้องทำงานคู่ขนานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่มีโรงพยาบาลทั่วประเทศประมาณ 300 กว่าโรงพยาบาล เพื่อรวบรวมความต้องการวัคซีนมาและเงิน เพื่อแจ้งว่า เป็นความต้องการวัคซีนจริง ๆ ล่าสุดมีความต้องการเสนอมา 9 ล้านโดส โดยคาดว่าจะได้รับมอบวัคซีนภายในปีนี้ 4 ล้านโดส และที่เหลือจะมาต้นปีหน้า แต่ทางบริษัทโมเดอร์นา ก็ไม่ได้แจ้งมาว่าจะมาในวันไหน เดือนไหน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมองค์การเภสัชฯ ยังไม่เซ็นสัญญาสักที เพราะเราต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินมาก่อนที่จะเซ็นสัญญา หากไปเซ็นสัญญาโดยที่ความต้องการไม่มีอยู่จริง องค์การเภสัชฯ จะรับผิดชอบไม่ไหว เพราะเป็นวัคซีนราคาแพง เราจึงได้วางแผนไว้ว่าจะเซ็นสัญญาบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัดภายในต้นสัปดาห์ของเดือนสิงหาคม

นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ส่วนเอกสารสัญญาได้ร่างไว้หมดแล้ว รวมถึงเอกสารข้อจำกัดของต่างประเทศที่ได้ส่งไป และเพิ่งได้รับเอกสารตอบกลับจาก บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เมื่อช่วงเช้าของเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม จากนั้นได้รวบรวมส่งไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดช่วงตอนเที่ยงของวันเดียวกันตามขั้นตอน ทั้งนี้ประเด็นนี้อาจจะต้องนำเข้าไปหารือใน ครม.ด้วย เพราะอาจจะมีบางเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจองค์การเภสัชฯ แต่เราก็ต้องทำให้รอบคอบจากนี้การกระจายของวัคซีน จะต้องกระจายให้ทั่วประเทศ ให้ถึงกลุ่มโรงพยาบาลทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่อย่างเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด

IMG 20210703135746000000

นอกจากนี้เรายังรวบรวมถึงสิทธิประโยชน์ประกันภัยด้วย หากสัญญาเรียบร้อย จะได้วัคซีนโมเดอร์นาภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ส่วนวัคซีนตัวอื่นเรากำลังเฝ้าจับตาดูอยู่ รวมถึงที่วิจัยในไทย เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2-3 ยี่ห้อ ขณะเดียวกันยังมีวัคซีนที่องค์การเภสัชฯผลิตเองด้วย ซึ่งผ่านการวิจัยในเฟสหนึ่งแล้ว ผลออกมาน่าพอใจ กำลังดำเนินวิจัยในเฟสสองในปลายเดือนนี้หรืออย่างช้า 10 สิงหาคม 2564

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ข้อมูลดีมานด์และซัพพลายวัคซีนทั้งโลก จากยูนิเซฟระบุว่า ดีมานด์วัคซีนมีอยู่ 1.1 หมื่นล้านโดส ส่วนซัพพลายมีอยู่ 9 พันล้านโดส โดยเราก็ไม่ได้ย่อท้อ ทุกเรื่องที่ถูกปฏิเสธก็พยายามต่อรอง พยายามคุยและขอร้องเขาทุกสัปดาห์ ผู้ใหญ่หลายท่านและรัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือ ถ้ามีข่าวดีเราจะรีบแจ้ง เพราะขณะนี้ข้าศึกไม่ได้มาประชิดบ้านเรา แต่พวกเรากำลังตะลุมบอนอยู่ ก็ขอความเห็นใจเอาความจริงมาพูดดีที่สุดในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดเช่นนี้

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันผลการตอบสนองต่อโรคลดลง ผู้ผลิตหลายรายได้พยายามจะปรับต้นเชื้อให้เป็นตามเชื้อที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจะเห็นว่าทางทีมวิจัยก็พยายามทำงานอย่างหนัก ผู้ผลิตที่เราใช้อยู่ทุกตัวก็พยายามปรับปรุงเรื่องนี้อยู่ และภายในปีหน้า ถ้าองค์การเภสัชฯ ก็จะวิจัยว่า ในเข็มที่สามจะใช้วัคซีนยี่ห้อที่แตกต่างจากที่เคยฉีดไปแล้วได้หรือไม่ เพื่อตอบสนองต่อเชื้อที่กลายพันธุ์ไปแล้ว เชื้อเปลี่ยนไปตลอดเวลาและเร็วมาก จึงจะต้องเปลี่ยนวัคซีนไปทุกปีหรือไม่ ขอเรียนประชาชนว่า เราไม่เคยอยู่เฉยๆ และไม่เคยอยู่นิ่ง แม้จะดูไม่มีความหวัง แต่เราก็ไม่เคยทิ้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo