ราชกิจจาฯ ออกประกาศข้อกำหนด-แนวทางปฏิบัติแผนเปิดประเทศ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 26) ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 12 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้น
โดยที่รัฐบาลเล็งเห็นถึงความจําเป็นในการเปิดพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการในภาค ธุรกิจท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง
ในการนี้รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในการกําหนด มาตรการรองรับและบูรณาการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปฏิบัติ ตามมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ และให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดําเนินการควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การกําหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็น (12) ของข้อ 1 การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ของข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 3 ของข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2513
“(12) ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่ที่กําหนดให้เป็นจังหวัดนําร่อง ด้านการท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล”
ข้อ 2 มาตรการป้องกันโรคสําหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกําหนดพื้นที่ จังหวัดนําร่องด้านการท่องเที่ยว เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ หลักเกณฑ์ และมาตรการป้องกันโรค สําหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อ 1 ให้เป็นไปตามคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่คำสั่งศบค.ที่ 7/ 2564 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 11)โดยมีข้อความระบุว่าเพื่อให้การปฎิบัติงานของผู้ที่รับผิดชอบและเจ้าหน้าที่ดำเนินการเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิดเมื่อเดินทางมาถึงราชอาณาจักร
ผู้เดินทางจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง และจะต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่ติดเชื้อโควิด โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 27 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง รวมถึงห้ามเดินทางออกนอกโรงแรม หรือสถานที่พัก จนกว่าจะมีผลตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อ โควิด-19 และต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนดซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฏหมายและรับรองจากองค์การอนามัยโลกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน เป็นต้น
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘Samui Plus Model’ ดีเดย์เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 ก.ค. ต้นแบบจังหวัดท่องเที่ยว
- เดินทางเข้า ‘ภูเก็ต’ ออกจากพื้นที่ไปจังหวัดอื่น อ่านคำสั่งล่าสุด มีผล 1 ก.ค.นี้
- ‘สมุย’ พร้อมเปิดเกาะ มั่นใจโอกาสเจอ ‘โควิด’ น้อยมาก เหตุวางมาตรการสุดเข้ม