COVID-19

‘ศบค.’ หารือเครียด ‘ล็อกดาวน์ กทม.’ หยุดระบาด เปิดข้อเสนอ ‘ปิดเฉพาะจุด’

ล็อกดาวน์ กทม. ศบค. หารือเครียด พิจารณาข้อเสนอ ปิดเฉพาะจุด หวั่นกระทบเศรษฐกิจ ยันรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่

วันนี้ (25 มิ.ย.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วย ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า ขณะนี้ คลัสเตอร์ใน กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระจายใน 6 กลุ่ม 20 เขต มีคลัสเตอร์ที่ระบาดมากกว่า 28 วัน 25 คลัสเตอร์ แบ่งเป็น แคมป์คนงาน 8 แห่ง ตลาด 6 แห่ง สถานประกอบการ 2 แห่ง ชุมชน และอื่น ๆ 9 แห่ง

ส่วนคลัสเตอร์ ที่ระบาด 14-27 วัน จำนวน 13 คลัสเตอร์ แบ่งเป็นแคมป์คนงาน 3 แห่ง ตลาด 3 แห่ง สถานประกอบการ 5 แห่ง ชุมชน และอื่น ๆ 2 แห่ง

ล็อกดาวน์ กทม.

ล็อกดาวน์ กทม. เฉพาะจุด 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การระบาดในกทม. แม้จะกระจายในทุกกลุ่มเขต หลายเขต แต่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน จะอยู่ในแคมป์คนงาน โรงงาน สถานประกอบการ ตลาด และชุมชน ซึ่งในสัปดาห์นี้ มีการถกเถียงเรื่องการล็อกดาวน์ กทม. และ ทางกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงเรื่องการระบาดวงกว้าง ที่อาจทำให้ระบบเตียง ระบบสาธารณสุข อาจรองรับไม่ไหว

ศบค. ต้องรับฟังทุกฝ่าย ในเรื่องเตียงก็ขยายศักยภาพ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอย่างเร็วที่สุด ซึ่งยังมีผู้ประกอบการ เสนอให้ทบทวนเรื่องนี้ เพราะการปิดจะทำให้เกิดผลกระทบ

“การ บับเบิล แอนด์ ซีล ปิดพื้นที่ระบาด เฝ้าระวังเบ็ดเสร็จ ในพื้นที่นั้น ๆ ใน กทม. จะต่างจากการระบาด ที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปีที่แล้ว ที่เราปิดโรงงาน ให้คนงานใช้ชีวิตในโรงงาน พบว่า 28 วัน ก็ยุติการระบาด และให้คนกลุ่มนี้ กลับมาใช้ชีวิต ได้ปกติ”

แต่ใน กทม. บริบทของแคมป์คนงาน ตลาด หรือ โรงงาน มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะว่า 28 วัน แต่ กทม.ยังไม่สามารถ ที่จะจบคลัสเตอร์ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือ เนื่องจากยังมีการออกไปตลาด ชุมชน ปิดแคมป์ที่ 1 คนงานก็เดินทางไป แคมป์ที่ 2 ที่ 3 ทำให้การแพร่ระบาดใน กทม. เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ศบค.เข้าใจทุกฝ่าย ที่จะได้รับผลกระทบ จึงมีการเสนอทางเลือก ที่หลากหลาย โดยกรมควบคุมโรค เสนอให้ล็อก เป็นจุด จาก 3 องค์ประกอบ คือ

  1. ปิดพื้นที่ความเสี่ยงสูง
  2. บุคคลกลุ่มเสี่ยง พื้นที่มีแรงงานต่างชาติ ก็ปิดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
  3. ปิดกิจกรรม/กิจการเสี่ยง มากกว่าการปิดทั้ง กทม. หรือทั้งจังหวัด ที่เห็นภาพชัดเจน ในต่างจังหวัด ปิดเฉพาะตำบลเสี่ยง ตลาด แคมป์คนงาน หรือพื้นที่ ที่มีแรงงานต่างชาติ ก็ล็อกเฉพาะตรงนั้น

“สิ่งสำคัญ มีความเป็นห่วงว่า การล็อก อาจไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการจุดชนวนปัญหา มากขึ้นหรือไม่ เช่นตัวอย่าง โรงเรียนมัรกัส ที่พอโรงเรียนปิด ก็เกิดการกระจายไปจังหวัดอื่น ๆ 11 จังหวัด เพราะเมื่อปิดกิจการ คนเดินทางกลับบ้าน ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อหรือไม่ จึงต้องหารือ ทุกแง่มุม”

พญ.อภิสมัย บอกด้วยว่า ทาง พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะหารือร่วมกับคณะที่ปรึกษา ด้านสาธารณสุข ถึงแนวทางมาตรการ ในการปิดพื้นที่ ในกทม. ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo