COVID-19

หมอศิริราช รวม ถาม-ตอบ ประสิทธิภาพ ซิโนแวค ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3

“ศ.พญ. กุลกัญญา” ไขข้อข้องใจ รวม ถาม-ตอบ ประสิทธิภาพ ซิโนแวค ต่อไวรัสกลายพันธุ์ การตรวจภูมิคุ้มกัน และการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จำเป็นหรือไม่ ควรเปลี่ยนชนิดวัคซีนไหม 

ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก รวม ถาม-ตอบ ประสิทธิภาพ ซิโนแวค พร้อมไขข้อข้องใจ การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยระบุว่า

ประสิทธิภาพ ซิโนแวค

“ช่วงนี้มีคำถามเข้ามาจากเพื่อน ๆ และน้อง ๆ หลายท่าน เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค รวมทั้งความจำเป็น ที่จะต้องฉีดเข็มที่สาม มีความกังวลใจว่าที่ฉีดไปแล้วนั้น โอเคหรือไม่ จึงขอรวบรวมคำถามทั้งหมด และมาตอบในบทความสั้นสั้น อันนี้นะคะ

คำถามที่ 1. วัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิภาพดีพอไหม โดยเฉพาะต่อสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งมีทีท่าจะระบาดเพิ่มมากขึ้น

คำตอบ: วัคซีนซิโนแวค ผลิตจากเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่า ระดับภูมิคุ้มกัน RBD-IgG ที่วัดได้หลังฉีด ไม่ได้สูงเท่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น mRNA และจำเป็นต้องฉีดอย่างน้อยสองเข็ม จึงจะเห็นระดับภูมิคุ้มกัน ที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน

เมื่อตรวจด้วยวิธี live virus neutralizing antibody (NT) ก็พบระดับที่สูงประมาณพอควร ต่อเชื้อดั้งเดิม และมีระดับ NT ต่อสายพันธุ์ UK มีระดับลดลงประมาณ 10 เท่า แต่ยังอยู่ในระดับที่ป้องกันได้ ส่วน NT ต่อสายพันธุ์อินเดีย ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า การวัดระดับภูมิคุ้มกันนั้น เป็นตัวแทนบ่งชี้ การตอบสนองของร่างกาย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่นอนว่า ระดับภูมิคุ้มกัน ที่วัดด้วยวิธีที่แตกต่างกันแต่ละวิธีนี้ ต้องมีระดับเท่าใดจึงจะป้องกันโรคได้ และที่ไม่ทราบว่า ระดับเท่าใด จึงจะป้องกันโรครุนแรง และเสียชีวิตได้ แต่คาดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ระดับสูงมาก เป็นที่ทราบจากการศึกษาระยะที่ 3 ทุกวัคซีน ป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต ได้สูงเกือบ 100% แต่ป้องกันการติดเชื้อรวม ๆ ได้แตกต่างกัน ซึ่งสัมพันธ์กับระดับ NT

shutterstock 1827366647

ดังนั้น แม้แต่การตรวจ NT ซึ่งตรวจได้ยากเย็น ทำเฉพาะในงานวิจัย ยังไม่สามารถบอกประสิทธิภาพ ในการป้องกันโรครุนแรง และเสียชีวิตได้เลย ซึ่งต้องใช้การศึกษาใน phase 3, 4 หรือเมื่อมีการใช้จริง ส่วนใหญ่เป็น case-control study จึงจะบอกประสิทธิผลในเรื่องนี้ได้

คำถามที่ 2. แล้วการตรวจเลือดที่มีในโรงพยาบาลทั่ว ๆ ไป พอจะบอกภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และควรตรวจหลังฉีดวัคซีนไหม

คำตอบ: การตรวจที่มีที่ใช้ทั่ว ๆ ไปในโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นเทคนิคที่ออกแบบมา เพื่อใช้วินิจฉัยโรค ทำให้ไม่แม่นยำ ในการจะมาบอกว่า มีภูมิคุ้มกันที่ปกป้องการติดเชื้อ หรือป้องกันโรครุนแรงได้หรือไม่ มีหลายคนฉีดวัคซีนแล้ว ไปตรวจภูมิคุ้มกัน ที่มีใช้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วพบว่า ไม่มีภูมิ ซึ่งน่าจะเกิดจากการตรวจไม่ไวพอ เกิดผลลบปลอม เกิดความกังวลโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ ในโครงการวิจัยต่าง ๆ นั้น พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ววัด NT ได้เกือบ 100% จึงขอแนะนำว่า ไม่ควรไปตรวจระดับภูมิคุ้มกัน ที่มีโฆษณาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพราะไม่แม่นยำ ทำให้ท่านเกิดความกังวลไปคิดว่า วัคซีนที่ฉีดนั้น เป็นน้ำเปล่าหรือเปล่า และกระวนกระวาย ที่จะไปฉีดวัคซีนเพิ่มเติม โดยไม่จำเป็น

คำถามที่ 3. แล้วหากไม่ตรวจระดับภูมิคุ้มกัน จะรู้ได้อย่างไรว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ

คำตอบ: อันนี้ต้องอาศัยการศึกษาในประชากรที่ฉีดวัคซีนแล้ว ว่ามีโอกาสเกิดโรค หรือเกิดโรครุนแรง น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ มีผลการศึกษาที่พบว่า วัคซีนซิโนแวค ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 100% ในการศึกษาในบราซิล และป้องกันการเข้าไอซียูได้ 89% ในชิลี ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ มีสายพันธุ์กลายพันธุ์ P1 ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างดื้อตัวหนึ่ง

ประสิทธิภาพ ซิโนแวค

สำหรับการป้องกันสายพันธุ์อังกฤษนั้น มีข้อมูลซึ่งฉีดในวงกว้าง ที่เกาะภูเก็ต ประเทศไทยเรานี่เอง และพบว่ามีประสิทธิภาพ ในการป้องกันโรคการติดเชื้อได้ประมาณ 90% และไม่มีใครป่วยหนัก หรือเสียชีวิตในโครงการนั้น แต่คาดว่าน่าจะป้องกันรุนแรงได้มากกว่า 90% แน่

แล้วกับสายพันธุ์อินเดียล่ะ ต้องรอข้อมูลจากประเทศที่มีสายพันธุ์อินเดียระบาด และใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นหลัก ได้แก่ อินโดนีเซียและจีน ซึ่งมีข้อมูลออกมาเบื้องต้นว่า ที่ประเทศอินโดนิเซียนั้น บุคลากรทางการแพทย์ ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว แม้มีติดเชื้อก็มีอัตราป่วยที่ลดลงมาก

ในประเทศจีน มีรายงานเบื้องต้นว่า ประสิทธิภาพ ซิโนแวค สามารถป้องกันการนอน รพ จากสายพันธุ์อินเดียได้ 96% แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด

สำหรับประเทศไทยเรานั้น สายพันธุ์อินเดียยังระบาดในวงไม่กว้างนัก ทำให้ยังไม่สามารถคำนวณประสิทธิผล จากวัคซีนซิโนแวค ต่อสายพันธุ์อินเดียได้ แต่หากดูตัวอย่างในประเทศอังกฤษ สำหรับวัคซีนแอสตร้า และไฟเซอร์ พบว่า แม้ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่อสายพันธุ์อินเดีย จะต่ำกว่าต่อสายพันธุ์อังกฤษไปบ้าง แต่พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการนอน รพ. ซึ่งหมายถึงรุนแรง ยังคงมีประสิทธิภาพที่สูงมากและพอๆกัน (92% และ 96%)

ผลทั้งหมดนี้ บ่งชี้ไปในทางที่ว่า ถ้าวัคซีนป้องกันสายพันธุ์อังกฤษได้ ก็น่าจะป้องกันสายพันธุ์อินเดียได้ โดยเฉพาะต่อโรครุนแรง

คำถามที่ 4. แล้วเข็มที่ 3 ต้องฉีดไหม

คำตอบ: แม้ว่าวัคซีนซิโนแวค น่าจะป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยเฉพาะชนิดรุนแรงได้ดี แต่ประสิทธิภาพนี้ จะอยู่ได้ไม่นานมาก เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกัน จะตกลงตามระยะเวลา  ต้องเข้าใจกันก่อนว่า วัคซีนทุกชนิด จะต้องมีการฉีดกระตุ้นหลังจากครบ 2 เข็มแล้วอย่างแน่นอน วัคซีนที่ทำให้สร้างภูมิเริ่มต้นที่ระดับสูงหน่อย ช่วงเวลาก่อนที่จะต้องฉีดซ้ำก็อาจจะทิ้งช่วงได้ยาวกว่า

มีการคำนวณว่า ค่าครึ่งชีวิตของระดับภูมิคุ้มอยู่ที่นาน 108 วัน สำหรับวัคซีนซิโนแวค ซึ่งให้ระดับ NT ไม่สูงมาก ถ้าต้องการให้ระดับ NT คงอยู่ในระดับเดิม ควรฉีดกระตุ้นหลังจากเข็มที่ 2 แล้ว อย่างน้อย 3-4 เดือน ซึ่งการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จะมีผลดีในการป้องกันกลายพันธุ์ ซึ่งมีระดับ NT ตั้งต้น จะต่ำกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมด้วย

วัคซีนโควิดรพ 1.สนาม ๒๑๐๖๒๕

ในขณะนี้ วัคซีนทุกชนิด กำลังมีการพัฒนารุ่นใหม่ ให้สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ ก็เหมือนที่เราต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ต้องอัพเดทสายพันธุ์ทุกปีเช่นกัน แต่จากการศึกษาเบื้องต้นโดยวัคซีน mRNA พบว่า ใช้วัคซีนรุ่นเดิมฉีดเป็นเข็มที่ 3 ก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้ครอบคลุมไปยังเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้นได้ด้วย

คำถามที่ 5. แล้วควรใช้อะไรฉีดกระตุ้นดี ควรสลับหรือเปลี่ยนชนิดของวัคซีนไหม

คำตอบ: ในเบื้องต้นตอบได้ว่า การเปลี่ยนชนิดวัคซีน น่าจะทำให้ร่างกายเก่งขึ้น ในการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่นำเสนอในหลายรูปแบบ และสำหรับวัคซีนซิโนแวค จะมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันระบบเซลล์ไม่ค่อยดี ดังนั้นการเปลี่ยนชนิด น่าจะช่วยในเรื่องนี้ได้ด้วย แต่ว่าจะใช้วัคซีนชนิดใดมากระตุ้นดีกว่ากัน ยังเป็นคำถามวิจัย น่าจะได้คำตอบใน 1-2 เดือนนี้

คำถามที่ 6. ควรสลับชนิดของวัคซีน ตั้งแต่เข็มที่ 2 เลย จะดีกว่าไหม

คำตอบ: การสลับชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 2 อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันสูงกว่าการใช้วัคซีนชนิดเดิม ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น บ่งชี้ไปในทางนั้น แต่ยังต้องรอข้อมูลการศึกษาให้มากขึ้นโดยเฉพาะข้อมูลประสิทธิผล และการสลับว่าเอาวัคซีนใด วัคซีนฉีดก่อน วัคซีนใดฉีดหลัง จึงจะให้ผลการกระตุ้นภูมิที่ดีกว่ากัน เพราะผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่อฉีดในอันดับที่แตกต่างกันอาจไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังต้องมาดูวิธีการบริหารจัดการว่า หากมีการฉีดสลับ จะสามารถทำได้โดยไม่มีข้อผิดพลาดหรือไม่ และระยะห่างของเข็มที่ 1 และ 2 ควรเป็นอย่างไร ถ้าสลับชนิดกัน จำเป็นต้องรอผลการศึกษา ก่อนจะมีคำแนะนำออกมาอย่างเป็นทางการ

องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้เปลี่ยนชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 1 และ 2 จนกว่าจะมีข้อมูลการศึกษามากกว่านี้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการข้างเคียงรุนแรง หรือแพ้วัคซีนตัวแรก ก็สามารถเปลี่ยนชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 2 ได้เลย

คำถามที่ 7. อย่างนี้เราควรไปจองวัคซีนสำหรับเข็ม 3 เอาไว้เลยไหม

คำตอบ: ตอนนี้ยังมีวัคซีนมีจำกัด ควรให้ความสำคัญกับการให้ทุกคนได้รับการฉีด 2 เข็มก่อน ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีความปลอดภัยระดับหนึ่งก่อน แล้วค่อยมาคิดถึงเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งยังพอมีเวลา

ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตรา 2 เข็ม อาจจะทิ้งช่วงได้นานกว่าสักหน่อย ก่อนจะต้องฉีดเข็มที่ 3 ทุกท่านที่ฉีดซิโนแว็กซ์ไปแล้ว 2 เข็ม ขอให้สบายใจว่า อย่างน้อยเรามีเกราะที่ป้องกันโรคได้แล้วชั้นหนึ่งแล้ว ค่อยมาคิดเรื่องฉีดเข็มที่ 3 กัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องรีบมาก โดยน่าจะห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3-4 เดือน

หลังเข็มที่สอง เราก็ยังพอมีเวลาเพื่อรอให้ผลการศึกษาต่าง ๆ ออกมาก่อน แล้วมาวางแผนกันอย่างเป็นระบบ แต่ในระหว่างนี้ ผู้รับผิดชอบต้องรีบจองวัคซีนเผื่อไว้เลย เพราะวัคซีนเป็นสิ่งที่ต้องจองนาน และควรจองให้มีหลากหลายชนิดไว้ก่อน เพื่อให้เป็นตัวเลือกในการฉีดต่อไป

เพื่อทำให้ทุกคนปลอดภัยไปด้วยกันค่ะ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo