ปลัดมหาดไทย ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ออก 3 มาตรการ คุมเข้มร้านอาหาร โรงงาน สถานประกอบการ ด้านชายแดนและการลักลอบเข้าเมือง ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวั ดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้ควบคู่กับการใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรค
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. มาตรการด้านร้านอาหาร ให้วางมาตรการป้องกันและควบคุมโรค เพื่อให้ผู้ประกอบการจัดให้มีมาตรการคัดกรอง จัดระเบียบผู้เข้าใช้บริการ และการเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน งดการรวมกลุ่มหรือจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ รวมทั้งห้ามการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านตามข้อกำหนดหรือที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดอย่างเคร่งครัด
2. มาตรการด้านโรงงาน สถานประกอบการ และแรงงาน จัดเตรียมแผนเผชิญเหตุเพื่อเตรียมการกรณีเกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในโรงงาน สถานประกอบการ หรือแคมป์คนงาน กรณีที่กำหนดควบคุมโรคโดยหลักการ bubble and seal ในพื้นที่ใด ให้ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แล้ววางมาตรการเฝ้าระวังมิให้มีการลักลอบออกนอกพื้นที่ควบคุมอย่างเด็ดขาด
3. ดำเนินมาตรการด้านชายแดน และการลักลอบเข้าเมือง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องการควบคุมการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จากประเทศเพื่อนบ้าน แบ่งเป็นการปฏิบัติในพื้นที่ชายแดน ให้เข้มงวดควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ โดยตั้งเครื่องกีดขวาง จัดให้มีการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นป้องกันมิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ บริเวณพื้นที่ชายแดน หากพบการลักลอบเข้าประเทศให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น
ส่วนการปฏิบัติในพื้นที่ตอนในให้ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจุดคัดกรองโรคบุคคล และรถขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านบนเส้นทางที่มีโอกาสจะมีการเดินทางลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
1. การคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าเมืองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
2 . คัดกรองรถขนส่งสินค้า
3. ผู้บัญชาการเหตุการณ์ (Incident commander : IC) ประจำช่องทางผ่านแดนอย่างเข้มข้นตลอด 24 ชั่วโมง
การปฏิบัติในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่
นอกจากนี้ ให้สำรวจ ตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน รวมทั้งบุคคลที่เคยอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน หากพบว่าเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และกรณีพบการละเมิดให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย
หากพบแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง โดยผิดกฎหมายหรือมีข้อมูลเบาะแสขบวนการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนผู้พบเห็นการกระทำผิดกฎหมายให้แจ้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ต้นตอ! ‘หมอศิริราช’ ชี้ผู้ป่วยโควิดไม่ลด เหตุแรงงานหนีเข้าเมือง มาปะปนกับชุมชน
- หมอศิริราช เตือน กทม. โคม่า ใกล้จุดระเบิด ผู้ป่วยหนัก ล้นเตียงไอซียู เชื้อซึมลึกเข้าชุมชน
- หยุดไม่อยู่! โควิดวันนี้ 4,059 คน ดับ 35 ราย กทม. พุ่งเกินพันคนอีกครั้ง