COVID-19

‘หมอยง’ เคลียร์ข้อสงสัย? ทำไมบางประเทศรับรองวัคซีนแค่บางตัว

“หมอยง” เคลียร์ข้อสงสัย? ทำไมบางประเทศรับรองวัคซีนแค่บางตัว แต่ยังไม่รับรองวัคซีนบางตัว ชี้วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรอง มีกฎเกณฑ์ว่าต้องสามารถป้องกันลดความรุนแรงของโรคลงได้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า

โควิด 19 วัคซีน เหตุผลอะไร ที่บางประเทศรับรองวัคซีนบางตัว แต่ยังไม่รับรองบางตัว

เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก มีเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรอง โดยมีกฎเกณฑ์ว่าต้องสามารถป้องกันลดความรุนแรงของโรคลงได้ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

หมอยง

ปัจจุบันนี้มีวัคซีนมากกว่า 13 ชนิดที่ผ่านระยะที่ 3 และใช้ในมนุษย์ ในภาวะฉุกเฉิน มีวัคซีนหลายตัวหรือเรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง ที่องค์การอนามัยโลกรับรอง เช่น Pfizer, Moderna, Johnson & Johnson, AstraZeneca, Sinovac, Sinopharm และมีอีกหลายตัวที่องค์การอนามัยโลกยังอยู่ระหว่างการพิจารณารับรอง แต่ได้มีการใช้อย่างกว้างขวางเป็นจำนวนมาก โดยมากจะผ่านการศึกษาในระยะที่ 3 แล้ว และมีการรับรอง ให้ใช้ในหลายประเทศ เหตุผลที่กล่าวว่าบางประเทศไม่รับรอง อาจจะเป็นไปได้ว่าบริษัทวัคซีนนั้นไม่ได้ไปขอขึ้นทะเบียนกับประเทศนั้น ๆ

บริษัทจะขึ้นทะเบียนกับประเทศที่ต้องการใช้

ขณะเดียวกัน ก็คงมีเรื่องของทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งในอเมริกา มีวัคซีนที่องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริการับรองให้ใช้ในประเทศมีเพียง 3 ตัวเท่านั้นคือของ Pfizer, Moderna และ J&J

ทั้งนี้เป็นประเทศผู้ผลิตเอง และมีจำนวนวัคซีนจำนวนมากเพียงพอที่จะใช้ในประเทศ ไม่มีความจำเป็นที่จะพึ่งพาวัคซีนตัวอื่นจากต่างประเทศ วัคซีน Novavax ที่ผลิตในประเทศอเมริกาเอง ก็กำลังรอขึ้นทะเบียนอยู่ ส่วนวัคซีน AstraZeneca นั้นองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ได้รับรอง เพราะถือว่าวัคซีนที่มีอยู่เพียงพอแล้ว

ในทำนองกลับกันประเทศจีนเอง ก็มีวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีนใช้อย่างเพียงพอ และได้ฉีดไปแล้วมากกว่า 800 ล้านโดส จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยวัคซีนทางตะวันตก เช่นเดียวกับประเทศรัสเซีย

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่ผลิตในประเทศไทย และความต้องการใช้ของวัคซีนมีมาก 

เราจึงต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจีน วัคซีนยุโรป เช่น AZ และวัคซีนอเมริกา ต่อไปแม้กระทั่งวัคซีนอินเดีย ถ้าจะมาขึ้นทะเบียนในประเทศไทย เราก็จะต้องพิจารณาโดยคณะกรรมการอาหารและยา

ขณะนี้วัคซีน Pfizer ก็ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนใช้ในประเทศไทย เพราะทางบริษัทยังไม่ได้ขอมาขึ้นทะเบียน ดังนั้นเราจะเห็นว่าวัคซีนบางตัวรับรองการใช้ในประเทศหนึ่งและอาจจะยังไม่รับรองในประเทศ จึงมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ดังได้กล่าวมาแล้ว

194613499 5839850569390845 2694277566505359963 n 1 e1623979571344

หมอยง ระบุอีกว่า ขณะนี้การศึกษาได้ติดตามกลุ่มที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca จะครบ 1 เดือนหลังฉีดเข็ม 2 ในปลายเดือนนี้ ข้อมูลการฉีดครบ 2 เข็ม ก็จะได้เห็นกัน
เลยอยากเอาข้อมูลที่กำหนดระยะห่าง 10 สัปดาห์กับการตรวจพบภูมิต้านทาน ที่ 10 สัปดาห์ ให้ดู
เพื่อให้ทราบว่า ถึงแม้ว่าเราจะเลื่อนเป็น 12 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันก็คงจะอยู่ระดับนี้ แต่ถ้าเลื่อนเป็น 16 สัปดาห์ เชื่อว่าถ้าภูมิคุ้มกันตกลงก็ไม่น่าจะมากกว่านี้มาก และการกระตุ้นเข็มที่ 2 ของวัคซีน AstraZeneca โดยทั่วไปจะสูงขึ้น 1 log scale กำลังรอติดตามปลายเดือนนี้ และการกระตุ้นภูมิต้านทานถ้าทิ้งระยะห่าง ภูมิต้านทานที่กระตุ้นขึ้นจะสูงกว่า ระยะที่เข็มแรกกับเข็ม 2 เข้ามาชิดกัน
แต่ข้อเสียของการเว้นระยะห่าง คือ การป้องกันโรคในช่วงเว้นระยะ จะมีประสิทธิภาพยังไม่เต็มที่ ถ้ามีวัคซีนมากพอก็ไม่ควรเว้นระยะห่าง ในยามขาดแคลนวัคซีน หรือต้องการปูพรมคนหมู่มาก การได้เข็มเดียวก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ปัญหาจึงอยู่ที่ทรัพยากรที่เราจะมีมาโดยเฉพาะวัคซีนถ้าหามาได้มากก็ไม่ควรจะเว้นระยะห่างไปถึง 16 สัปดาห์ กลยุทธ์ในด้านระบาดวิทยาจึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ก่อน
ส่วนวัคซีน Sinovac เราก็กำลังจะตรวจภูมิต้านทาน 3 เดือนหลังฉีดเข็ม 2 ในต้นเดือนหน้า เพื่อดูการลดลงของภูมิต้านทาน และจะติดตามดูว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้เข็ม 3 เมื่อไหร่
ข้อสังเกตจากการดูรูปทั้งสองนี้ เป็นการตรวจภูมิต้านทานต่างวิธีกัน วิธีหนึ่งเป็นการตรวจ IgG รวม อีกวิธีหนึ่ง เป็นการตรวจ IgG ที่จำเพาะต่อ RBD และการตรวจทั้งสองวิธีมีหน่วยไม่เหมือนกัน ดังนั้นการตรวจถ้าเราไม่รู้ ดูเพียงแต่ตัวเลขจะเกิดความสับสนได้ ในทางปฏิบัติการตรวจภูมิต้านทานจึงใช้ในงานวิจัยมากกว่างานบริการ เพราะในงานบริการ จุดอ้างอิง หรือมาตรฐานสากลยังไม่มี

#หมอยง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK