COVID-19

ศบค.แจงปม ‘ฉีดวัคซีน 2 เข็ม 2 ยี่ห้อ’ ยอมรับอยู่ระหว่างวิจัย-ไร้ผลสรุป

ฉีดวัคซีน 2 เข็ม 2 ยี่ห้อ ศบค. แจงแล้ว ปมฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อ รับอยู่ระหว่างวิจัย ไร้ผลสรุปถึงประสิทธิภาพ ดังนั้นฉีดเข็มหนึ่ง เข็มสองเป็นชนิดเดียวกัน ยังเป็นหลักการองค์การอนามัยโลกแนะนำ

วันนี้ (16 มิ.ย.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตอบข้อซักถาม ถึงกรณีที่มีผู้ได้รับบัตรฉีดเข็มแรกเป็นยี่ห้อหนึ่ง แต่พอเข็มสองได้รับวัคซีนต่างยี่ห้อกัน ตามหลักการแล้วเป็นไปได้หรือไม่

ฉีดวัคซีน 2 เข็ม 2 ยี่ห้อ

ฉีดวัคซีน 2 เข็ม 2 ยี่ห้อ อยู่ระหว่างวิจัย-ไร้ผลสรุป

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับการ ฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่ง และเข็มที่สอง คนละยี่ห้อนั้น ในโลกโซเชียลของคนไทย ได้มีการสอบถามกันมาก และในต่างประเทศเองก็มีความสงสัยในกรณีนี้เช่นกัน  เรียนว่า โดยเริ่มต้นมีที่มาส่วนหนึ่งจากการที่พี่น้องประชาชนฉีดวัคซีน โควิด-19 ยี่ห้อใดก็ตาม แล้วเกิดการแพ้วัคซีนนั้นอย่างรุนแรง ซึ่งในต่างประเทศมีเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อมีการแพ้วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อแรก จึงเป็นข้อห้าม ที่ไม่สามารถจะฉีดซ้ำเข็มที่ 2 ได้ในหลายประเทศ จึงมีมาตรการที่จะต้องจัดหาวัคซีนคนละยี่ห้อ ซึ่งอาจเป็นการใช้วัคซีนที่มีวิธีการผลิตต่างกันไปเลย เพื่อไม่ให้เกิดการแพ้

ดังนั้น เมื่อมีการเก็บข้อมูลการใช้วัคซีนคนละยี่ห้อในทางการแพทย์ จึงต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งในประเทศไทย มีหลายหน่วยงานพยายามศึกษาอยู่ หรือแม้แต่ที่สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ก็มีความพยายามที่จะศึกษาอยู่เช่นกัน โดยการศึกษาเบื้องต้น ใช้วิธีการวัดภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ทั้งจากคนที่ติดเชื้อโดยธรรมชาติ การใช้วัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง เข็มที่หนึ่ง เข็มที่สองเหมือนกัน มาเทียบกันกับคนที่ฉีดเข็มหนึ่งเข็มสองคนละยี่ห้อ

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเข็มหนึ่งเข็มสองเป็นวัคซีนชนิดเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม มีการปฏิบัติจริง แต่ต้องเรียนว่า การศึกษาวิจัยเหล่านั้น ยังไม่มีใครที่จะกล้าสรุปว่า จะได้ประสิทธิภาพดีกว่า เพราะฉะนั้นการที่บริษัทผู้ผลิต ได้วิจัยมานานกว่า และมีตัวอย่างการศึกษามากกว่าแล้ว สรุปว่า ให้ฉีดเข็มหนึ่งเข็มสองเป็นวัคซีนชนิดเดียวกัน อันนั้นยังเป็นหลักการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ

แต่เรื่องของเข็มหนึ่งเข็มสอง หรือแม้แต่กระทั่งเข็มสาม ที่มีการพูดถึง ถือเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ และคงได้ติดตามในรายละเอียดขอให้ฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและทางกระทรวงสาธารณสุขด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo