COVID-19

ช่วยผู้ประกันตน ม.40 ! ลดส่งเงินสมทบเหลือ 60% นาน 6 เดือน

ครม. เยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไฟเขียว ลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของ ผู้ประกันตน ม.40 กลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ลง 60% เป็นเวลา 6 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมครม. มีมติเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ลดการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมมาตรา 40 หรือ ผู้ประกันตน ม.40 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอิสระ โดยจะลดเงินสมทบเหลือ 60% เป็นเวลา 6 เดือน

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตนในกรณีการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. …. เพื่อลดอัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 เหลือ 60% เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยการส่งเงินสมทบ ดังนี้

ผู้ประกันตน ม.40

ทางเลือกอัตราเงินสมทบใหม่ของ ผู้ประกันตน ม.40

ทางเลือกที่ 1 (ได้ประโยชน์ทดแทน 3 กรณี) อัตราเงินสมทบใหม่ 42 บาท/เดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 70 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 2 (ได้ประโยชน์ทดแทน 4 กรณี) อัตราเงินสมทบใหม่ 60 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 100 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 3 (ได้ประโยชน์ทดแทน 5 กรณี) อัตราเงินสมทบใหม่ 180 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 300 บาท/เดือน

อัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. …. เพื่อลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เช่นเดียวกัน โดยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน การส่งเงินสมทบ ดังนี้

ลดเงินประกันสังคม31

 

ทางเลือกที่ 1 อัตราเงินสมทบใหม่ 21 บาท/เดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 30 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 2 อัตราเงินสมทบใหม่ 30 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 50 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 3 อัตราเงินสมทบใหม่ 90 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 150 บาท/เดือน

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

“การปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบลดลง 378 ล้านบาท ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและเพิ่มกำลังซื้อมากขึ้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ขณะที่รัฐบาลลดนำส่งเงินสมทบลง 189 ล้านบาท รวมทั้งแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มที่จะเลือกส่งเงินสมทบตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ซึ่งเป็นแบบสมัครใจเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบดังกล่าว”

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน คาดว่าจะมีเงินสมทบลดลง หลังจากการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ 6 เดือน จำนวน 567 ล้านบาท เหลือจำนวน 850.5 ล้านบาท จากจำนวนเดิม 1,417.5 ล้านบาท แต่จะไม่ส่งผล กระทบต่อการบริหารจัดการเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมจัดสรรเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามอัตราปกติ

โดยแรงงานนอกระบบตาม มาตรา 40 มีประมาณ 3.5 ล้านคน โดยกลุ่มแรงงานเหล่านี้ ล้วนเป็นแรงงานอิสระ

ผู้ประกันตน ม.40

คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครประกันสังคม มาตรา 40 

1. มีสัญชาติไทย

2. เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยมีมติ ครม. ผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขบัตรประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 6 หรือ 7

3. เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขประจำตัวหลักแรกเป็น 0 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ยกเว้นผู้ที่มีเลขประจำตัวหลักแรกและหลักที่สองเป็น 0)
4. มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563)
5. ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคม มาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 (บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้)
6. ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต่าง ๆ หรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีลักษณะเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของส่วนราชการ
7. หากเป็นผู้พิการให้ระบุลักษณะหรืออาการของผู้พิการโดยละเอียด (ยกเว้นผู้พิการทางสติปัญญาและผู้พิการที่ไม่อาจรับรู้สิทธิที่พึงจะได้รับจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่สามารถสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ได้)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight