COVID-19

ฉีดวัคซีน กลุ่มตกหล่น ‘หมอพร้อม’ พื้นที่ กทม. ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ 16 มิ.ย.นี้

จัดศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ รองรับผู้ลงทะเบียนหมอพร้อม ฉีดวัคซีน กลุ่มตกหล่น พื้นที่กทม. ตั้งแต่ 16 มิถุนายนนี้ คาดมีแค่หลักร้อย เร่งส่งวัคซีนเพิ่ม ลดการเลื่อนฉีดของโรงพยาบาล

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงการ ฉีดวัคซีน กลุ่มตกหล่น ที่ลงทะเบียน หมอพร้อม ว่า จะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ลงทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยจะพร้อมเปิดให้บริการในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์กลางฉีดวัคซีนบางซื่อ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 1,000 คน ขณะที่ตั้งเป้ารองรับได้ 2,000 คน หรือเฉลี่ย 200 คนต่อชม.

ฉีดวัคซีน กลุ่มตกหล่น

สำหรับวัคซีนที่นำมาฉีดให้กับ 2 กลุ่มนี้ เป็นวัคซีนที่สำรวจการฉีดเข็ม 1 ที่สถานีกลางบางซื่อไว้อยู่แล้ว แต่ประชาชนไม่มาฉีด เนื่องจากเข้าใจว่า มีการลงทะเบียนฉีดในหลายกลุ่ม หรืออาจได้รับวัคซีนแล้ว โดยกลุ่มนี้มากถึง 10% ดังนั้นวัคซีนส่วนนี้จึงไม่ใช่วัคซีนใหม่ หรือเอามาจากพื้นที่อื่น แต่เป็นวัคซีนเดิมของสถานี ที่ได้รับการจัดสรรตามแผนแต่ต้น

สำหรับคนที่ไม่มีการเลื่อนนัดจากรพ. ที่ลงทะเบียนแล้ว ให้ไปตามเดิม แต่หากมีการเลื่อน ขอให้โทรไปเช็กอีกรอบว่า รพ.เลื่อนกลับมาแล้วหรือยัง หากสมัครใจไปรพ.ตามเดิมก็สามารถทำได้ โดยศูนย์วัคซีนบางซื่อ จะเป็นตัวเลือกให้เท่านั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่า มีบางรายถูกเลื่อนไปเดือน กรกฎาคม ไม่อยากรอ ก็สามารถฉีดที่บางซื่อได้ โดยสามารถโทรไปที่เบอร์กลางหมอพร้อม โทร. 0-2792-2333 ที่จะให้คำแนะนำ และนัดผ่าน SMS ให้

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 16 มิถุนายน จะมีวัคซีนโควิดทยอยเข้ามาเติมในระบบ และเมื่อผ่านการตรวจรับรองรุ่นการผลิตเช้าส่งบ่ายทันที มาบ่ายก็ส่งเช้า เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบในการเลื่อนบริการฉีดในสถานพยาบาล

นอกจากนี้ หากทางโรงพยาบาล ปรับเวลาฉีดเร็วตามปกติ ก็ไม่กระทบต่อแผนการฉีด ในสัปดาห์ถัดไป และไม่ต้องมายังสถานีกลางบางซื่อ อย่างไรก็ตาม ยอดวัคซีน ยังคงเป็นไปตามแผนกำหนดการเดิม คือ มีวัคซีนเข้ามารวม 6.5 ล้านโดสในเดือน มิถุนายนนี้ เป็นไปตามที่ ศบค.กำหนด

วัคซีน 2

ขณะที่นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการ บริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กล่าวว่า ได้รับนโยบายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในการช่วยเหลือฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ 2 กลุ่มหลัก คือผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปกับกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ที่จองผ่านระบบมาพร้อม ที่มีปัญหาไม่ได้รับวัคซีนตามนัด

การที่ 2 กลุ่มนี้ต้องได้รับวัคซีนก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เมื่อป่วยแล้ว มีโอกาสเข้าห้องไอซียู และเสี่ยงเสียชีวิต ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของการฉีดวัคซีนที่มี 3 ข้อ คือ

1. ลดการเจ็บป่วย เสียชีวิต กลุ่มเป้าหมายคือ 7 คุมโรคเรื้อรัง และอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะถ้าป่วยแล้วมีโอกาสป่วยหนักเข้าห้องไอซียูและเสียชีวิต ดังนั้นจึงเป็น 2 กลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรก

2. เพื่อให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปได้ จึงฉีดกลุ่มบุคลากร ซึ่งการฉีดในกลุ่มแรกก็จะทำให้ผู้ป่วยลดลงและทำให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้า

3. ขับเคลื่อนโดยเมื่อเศรษฐกิจ ควบคุมป้องกันโรค เช่นที่เราดำเนินการที่ภูเก็ตและสมุยหรือพื้นที่เกิดการระบาดหนักๆ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล ก็รวมอยู่ในข้อ 3 นี้

ดังนั้น จึงมีนโยบายออกมาตั้งแต่แรกแล้ว ให้ฉีดวัคซีนกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ในช่วงแรกก่อน ต่อจากนั้นจึงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม

วัคซีนโควิดรพ 0.สนาม ๒๑๐๖๑๕

ข้อมูลการได้รับวัคซีนโควิดในประเทศไทย แยกตามกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-13 มิถุนายน 2564 พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วคิดเป็นร้อยละ 100.9 ส่วนเข็มที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 86.5

ขณะที่เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เข็มแรกร้อยละ 25.7 เข็มที่ 2 ร้อยละ 12.7 อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เข็มที่ 1 ร้อยละ 22.5 เข็มที่ 2 ร้อยละ 10.4

ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เข็มแรกร้อยละ 7.5 เข็มที่ 2 ร้อยละ 1.5% ประชาชนทั่วไปเข็มแรกร้อยละ 6.8 เข็มที่ 2 ร้อยละ 2 ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีเข็มแรกร้อยละ 6 และเข็มที่ 2 ร้อยละ 0.3

จะเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ยังได้รับสิทธิน้อย จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมกระทรวงต้องเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน และขอทำความเข้าใจกับจังหวัดต่าง ๆ ให้ฉีดวัคซีน 2 กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มแรก โดยเฉพาะจองมาแล้วผ่านหมอพร้อม จึงมั่นใจว่าจังหวัดต่าง ๆ จะดำเนินการได้

ด้านตัวเลขการจองหมอพร้อมในพื้นที่กทม. ดังนี้

วันที่ 7-13 มิถุนายน มี 178,556 คน

วันที่ 14-20 มิถุนายน อยู่ที่ 133,637 คน

วันที่ 21-30 มิถุนายน มี 144,221 คน

ดังนั้น รวมมีผู้ฉีดแล้ว 456,414 คน ส่วนผลงานที่ กทม. ฉีดในผู้สูงอายุเข็มที่ 1 ฉีดไปแล้วจำนวน 161,449 คน เข็มที่ 2 ฉีดไปแล้วจำนวน 11,063 คน ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 120,151 คน ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดไปแล้ว 16,822 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo