COVID-19

‘หมอจรุง’ ตั้งข้อสงสัย 3 ประเด็น ทำไมวัคซีนโควิด ‘ไม่มาตามนัด’

วัคซีนโควิด ไม่มาตามนัด “หมอจรุง” อดีตผอ. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตั้งข้อสงสัย “3 ประเด็น” ทั้งวัคซีนมีน้อย  การประสานงานขาดประสิทธิภาพ และ การใช้ข้อมูล เพื่อติดตามผลเชิงนโยบายยังไม่มากพอ หรือไม่ 

วันนี้ (15 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.จรุง เมืองชนะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Charung Muangchana” ตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดทั่วประเทศ ไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้  โดยได้บอกถึงข้อสงสัย 3 ข้อสำหรับเรื่องนี้  โดยระบุว่า

วัคซีนโควิด

ในฐานะ ผอ.สถาบันวัคซีนคนเก่า ผมไม่แน่ใจว่าควรแสดงความเห็น กรณี วัคซีนโควิด ไม่มาตามนัด ทั้งใน กทม. และอีกหลายจังหวัด ตามคำเชิญของทีวีช่องใหญ่แห่งหนึ่งดีหรือไม่

ผมไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะเห็นใจทุกฝ่าย การบริหารวัคซีนระดับชาติ มันซับซ้อนกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจมากมาย โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การบริหารยา และเวชภัณฑ์ ให้เพียงพอกับความต้องการในภาวะระบาดหนักหน่วงว่ายากแล้ว แต่วัคซีนยากกว่าหลายเท่าครับ เพราะวัคซีนเป็นสิ่งมีชีวิต หรือผลิตจากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต มีความผันแปรได้สูงยิ่ง ต้องควบคุมคุณภาพกันอย่างเคร่งครัด ทุกขั้นทุกตอน ต้องทำการเพาะเชื้อ การเร่งผลิตเพิ่มปริมาณตามความต้องการ ในเวลาสั้นทำได้ยาก ถึงยากที่สุด แม้กำไรมหาศาลล่อตาล่อใจบริษัทผู้ผลิตอยู่ทนโท่ก็ตาม

ความขาดแคลน และภาวะการแย่งวัคซีนในสถานการณ์ระบาด แบบแพนเดมิค (Pandemic) ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน จึงพบได้ เป็นปัญหาในทุกหัวระแหง ทุกระดับ ทั่วโลก เกิดกับทุกโรคที่มีการระบาดวงกว้าง ไม่เฉพาะโควิดวัคซีน

ผมตั้งข้อสงสัย หรือสร้างสมมุติฐานว่า ปัญหาสำคัญของ วัคซีนโควิด ไม่มาตามนัด มีเพียง 3 ประการหลัก

ประการแรก คือ วัคซีนมีน้อย และถูกใช้จนหมด ใช้แบบไม่เหมาะสม คลาดเคลื่อน ไปจากมาตรการและนโยบายที่วางไว้ ใช่หรือไม่

แม้ข้อมูลผลการกระจายและฉีดวัคซีน กว่า 7 ล้านโดส ตั้งแต่ 28 ก.พ. ถึงเมื่อวาน 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง ว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มแล้ว 100.9% จากเป้าหมาย 712,000 คน

วัคซีนโควิด

ข้อมูลนี้ทำให้ชื่นใจ สะท้อนว่าเราทำได้ นั่นคือ ระบบการบริหาร และการให้บริการวัคซีนของรัฐบาล ที่มีอยู่มีประสิทธิภาพพอสมควร และประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง เป็นไปตามวัคซีนโรดแมป (Vaccine roadmap) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ว่า เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขเอาไว้  ปล่อยให้ล่มไม่ได้เด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขมันฟ้องว่า เปอร์เซ็นต์การได้รับวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายอื่น ในโรดแมปดังกล่าว มันผิดเพี้ยนไป เพื่อลดการป่วยรุนแรง และการป่วยตายให้ได้มากที่สุด

นี่คือคำตอบว่า ทำไมผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จึงถูก WHO จัดไว้ให้อยู่แถวหน้า เป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อนใคร รองลงมา แต่ผลการให้วัคซีนกลับตาลปัตร คือ ผู้สูงอายุ ได้รับเพียง 0.3% และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับ 1.5% ถูกแซงนำหน้าโดยประชาชนคนทั่วไป ซึ่งได้รับ 2.0% อย่างไม่น่าเชื่อ

ดูตัวเลขเปอร์เซ็นต์เหมือนไม่มาก แต่คิดเป็นจำนวน วัคซีนโควิด กว่าสองล้านโดสเลยทีเดียว

ข้อมูลผลการฉีดวัคซีนดังกล่าว สะท้อนว่าการปฏิบัติการไม่เป็นไปตามแผน และนโยบายเสียแล้ว ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนวัคซีนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะต้องสูญเสียวัคซีนไปให้กลุ่มที่ยังไม่ถึงเวลา (ประชาชนทั่วไป) กว่า 2.5 ล้านโดส หรือ 40.8% ของวัคซีนที่ได้รับ*

ในสถานการณ์วัคซีน ยังมีน้อยถึงน้อยมาก WHO แนะนำ เน้นแล้วเน้นอีก ให้ใช้เฉพาะกับพื้นที่ระบาด สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงสุด ดังกล่าวแล้ว ตามลำดับ เท่านั้น ขัดกับข่าวคราวที่ได้ยินหนาหู คงเป็นที่มาของปัญหาวัคซีน เดินไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่น นำวัคซีนจำนวนมาก ไปปูพรมให้ประชาชนคนทั่วไปในบางแห่ง หรือแม้แต่การดึงไปให้กลุ่มอื่น ๆ ตามแต่จะสรรหาเหตุผล

ดังที่หลายคนให้คำนิยาม จนมองเห็นภาพ ว่า “วัคซีนการเมือง” ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นการใช้อำนาจบารมีเพราะหวังดี หรือหวังเสียงกันแน่ แต่ที่ชัดเจน คือ กลุ่มที่เสี่ยงกว่าได้รับวัคซีนช้าลงอีกโข

ขอย้ำว่า คำแนะนำของ WHO มีการทดสอบผลกระทบหรือผลได้ทางคณิตศาสตร์และสถิติ หรือที่เรียกกันว่าการทำโมเดล (Modeling) ในภาพกว้างระดับประเทศมาก่อนแล้ว สำหรับการเลือกให้วัคซีนในกลุ่มต่าง ๆ อย่างชาญฉลาด มันยากมากที่จะมโน จินตนาการในสมองมนุษย์ เพราะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย พร้อม ๆ กัน เกือบทุกด้าน ที่ส่งผลถึงประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ที่ประเทศ และนานาชาติจะได้รับจากแต่ละมาตรการ

วัคซีนโควิด

ประการที่สอง การประสานงาน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานแต่ละระดับ ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอในการดำเนินงานให้สอดรับกัน ใช่หรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเชิงรุก การคาดการณ์ที่ใกล้เคียง ทั้งปริมาณวัคซีนภาพรวมระดับประเทศ และการแบ่งสันปันส่วนให้พื้นที่เป็นการล่วงหน้า เป็นรายสัปดาห์ ตามสถานการณ์ระบาด และประชากรกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่

ผมยังค้นเอกสารเหล่านี้ไม่เจอเลย หรือมันเป็นความลับดับมืด ที่เปิดเผยไม่ได้ หรือถูกตัดหน้าแย่งวัคซีนไปใช้นอกแผน หรือต้องเกรงใจใครบางคน มากกว่ากลัวการสูญเสียชีวิตของประชาชนหรือไม่

เท่าที่ค้นพบ คือ การแถลงข่าวว่า กรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนตามเกณฑ์ และนโยบายของ ศบค. แล้ว ส่วนการนำวัคซีนไปใช้หรือกระจายต่อ รวมทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลน หรือวัคซีนมาไม่ทันเวลา เป็นหน้าที่ของพื้นที่ ต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมเอง

เรื่องนี้ พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 วางแนวทางการดำเนินการไว้แล้ว โดยให้อำนาจคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ในการจำกัดสิทธิประชาชน และนิติบุคคล เพื่อบริหารจัดการวัคซีนให้มีใช้อย่างเพียงพอภายในประเทศ ทั้งการสนับสนุนการนำเข้า ควบคุมการผลิต และการส่งออกวัคซีน รวมถึงการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูล

จึงปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ไม่มีข้อมูลประมาณการปริมาณวัคซีนรายสัปดาห์ ที่ควรแจ้งให้หน่วยล่างรับทราบล่วงหน้า เพื่อการวางแผนจัดบริการวัคซีนอย่างเหมาะสมต่อไปได้

ประการที่สาม การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อติดตามประเมินผลเชิงนโยบายยังไม่เพียงพอ ยังตื้นเกินไปหรือไม่

ใครได้รับวัคซีนครอบคลุมกี่เปอร์เซ็นต์เสนอกันแต่ภาพรวมทั้งประเทศ ผิวเผิน มิอาจใช้สะท้อนว่า การดำเนินการให้วัคซีนสอดรับกับมาตรการ และนโยบายดีเพียงไร ในแต่ละพื้นที่ และหน่วยงาน

ควรนำข้อมูลการได้รับวัคซีน มาจำแนกแยกแยะว่า กลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนในแต่ละพื้นที่ เป็นสัดส่วนตามสถานการณ์การระบาดหรือไม่ เช่น มีข่าวว่าบางจังหวัดมีผู้ป่วยน้อย แต่ได้วัคซีนมากกว่าใครเขา บางข่าวแจ้งว่า คุณหญิงคุณนายจากต่างจังหวัด ใช้เส้นสายมารับวัคซีนถึงเมืองกรุง บอกแต่เพียงโค้ดลับ ก็ได้รับวัคซีนสมใจ ฯลฯ

นอกจากการสอบสวนความผิดปกติเฉพาะเหตุการณ์แล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก จำแนกรายพื้นที่ และหน่วยงาน จะช่วยตอบคำถามได้เช่นกันว่า ระดับปฏิบัติการสอดรับกับนโยบาย และมาตรการที่วางไว้หรือไม่

วัคซีนโควิด

ตัวอย่างของการได้รับวัคซีนในภาวะปกติ ก็เป็นปัญหาทำนองเดียวกัน

ท่านเชื่อไหมใน พ.ศ. นี้ การได้รับวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐานกว่า 10 โรค ของคนไทย ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงกว่า หรือเป็นไปตามเป้าหมายเกือบทุกตัว บางตัวค่าเฉลี่ยเฉียดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากหันไปมองเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ความครอบคลุมต่ำจนน่าใจหาย ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าประเทศยากจนในแอฟริกาเสียอีก

ผมเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าแตกข้อมูลจำแนกแยกย่อยไปถึงระดับพื้นที่ และภาคส่วนต่าง ๆ เราอาจจะเจอการกระจายวัคซีนโควิด ที่บิดเบี้ยวอย่างมโหฬาร ในบางแห่ง หรือบางหน่วยอย่างแน่นอน ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวกันไปบ้างแล้ว

ปรมาจารย์ทางระบาดวิทยาสากล แนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า คำพูดและความคิดเห็นของคน หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อถือได้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับแหล่งข้อมูลเชิงประจักษ์อื่น ๆ  เพราะคำพูด และความเห็นของคนมักมีอคติ (Bias) เจือปนอยู่ไม่มากก็น้อยเสมอ

ใช่ครับ เราควรเชื่อข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบ และวิเคราะห์กันมาอย่างดีแล้วมากกว่า ชาติจะได้เจริญ หลุดออกจากกับดัก ประเทศรายได้ปานกลางเสียที

*วิธีคำนวณ

  • จำนวนวัคซีนที่ใช้ในประชาชนทั่วไป 2.5 ล้านโดส
  • จำนวนวัคซีนที่กระจายออกไปทั้งหมด 7.0 ล้านโดส

ดังนั้น การใช้วัคซีนในประชาชนทั่วไป เมื่อเทียบกับวัคซีนที่กระจายทั้งหมด = (2.5/7.0)×100 =40.8%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo