COVID-19

‘อนุทิน’ อัด ‘รพ.เอกชน’ ทำงานไม่ถูกต้อง ยืนยัน ‘วัคซีน’ ไม่ขาด

‘อนุทิน’ แจง “กระทรวงสาธารณสุข” ส่งวัคซีนโควิดตามข้อตกลง 3 ฝ่าย หาก รพ.มีปัญหาเรื่องวัคซีน ต้องหารือจังหวัด ไม่ใช่โพสต์ต่อว่า ยันวัคซีนไม่ขาด แนะลดระดับฉีด

วันนี้ (14 มิ.ย.)  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของ กทม.หลังเกิดเสียงวิจารณ์ว่า สธ.ส่งวัคซีนให้ไม่เพียงพอ ว่า ขอทำความเข้าใจตรงกันว่า สธ.เป็นผู้จัดส่งวัคซีนไปทั่วประเทศ ตามข้อสั่งการของ ศบค.และตามข้อตกลง 3 ฝ่าย คือ ศบค., กรมควบคุมโรค และหน่วยงาน ได้แก่ จังหวัด กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

anyy111

ดังนั้น วัคซีนทุกขวดที่ออกไปจากกรมควบคุมโรค ออกไปด้วยข้อตกลงที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่กรมควบคุมโรคกระจายตามดุลพินิจตัวเอง เพราะฉะนั้น หากมีปัญหาในพื้นที่ แต่ละพื้นที่ ต้องเป็นผู้อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ หรือหน่วยงานที่รับวัคซีนทั้งรัฐ และเอกชนที่รับวัคซีน จาก กทม.ไปแล้วมีปัญหา หรือฉีดหมดแล้ว อย่าเพิ่งโพสต์ ขอให้โทร.ไปปรึกษาสำนักอนามัย หรือสำนักการแพทย์ กทม.ให้เรียบร้อยก่อน

การโพสต์แล้ว บอกว่า สธ.ไม่ส่งวัคซีนให้ เป็นข้อความที่ผิด ไม่ถูกต้อง และทำให้เกิดการตื่นตระหนกตกใจ โกลาหล แล้วบอก  มีอะไรให้โทร.มาถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ข้อความที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่วิธีการทำงานที่ถูกต้อง รพ.เอกชนในเขต กทม.ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนโดย กทม. ถ้ามีปัญหาก็ต้องไปปรึกษาปัญหาหารือกับต้นทาง อย่าเพิ่งใจร้อน ทำงานแบบนี้ต้องใจเย็นๆ”

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า วัคซีนยังคงเข้ามาเป็นล็อตๆ เหมือนเดิม โดยจำนวนวัคซีนของ มิถุนายน มีข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว กับทุกหน่วยงาน ทุกจังหวัด ตามตารางที่อธิบดีกรมควบคุมโรคถือไว้

ถ้าส่งไปไม่ตรงจำนวนในตาราง ถ้ามากกว่า ไม่เป็นอะไร ถ้าน้อยกว่าในตาราง ต้องมีคนรับผิดชอบ ยืนยันว่า ไม่มีการปรับการให้วัคซีน กทม. ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด

สัปดาห์ที่แล้วให้ กทม.ไป 500,000  โดส คนรับไป ก็ต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหากฉีดมากไปทำให้เกิดการชอร์ตหรือไม่ ถ้าชอร์ตก็ต้องลดระดับการฉีดลงมาให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ใช่มาประกาศปิด ประชาชนก็ว่าวัคซีนขาด แต่ความจริงวัคซีนไม่ได้ขาด

“ตอนนี้ สธ.ทำงานได้แค่นี้ กำหนดนโยบายไม่ได้ เพราะศบค.เป็นผู้กำหนด อำนาจบริหารจัดการเรื่องนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สธ. เป็นผู้ปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ศบค.แจ้งข้อสรุปใด ๆ มา สธ.ก็ปฏิบัติทุกประการ นี่คือการทำงานแบบบูรณาการ”

“ถ้าทุกหน่วยงานต้องการสร้างความนิยม ไปแย่งกันทำงาน ไปกำหนดนโยบายของตัวเองก็คงลำบาก ไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน ยกเว้นถ้ากรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจริง ๆ แล้วส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนเฉพาะหน้าแบบนั้น สธ.ก็คงใช้ดุลพินิจในการเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ก่อนอย่างกรณีของหมอพร้อม”

นายอนุทิน กล่าวว่า กรณีหมอพร้อม จะให้อธิบดีกรมควบคุมโรคตรวจดูว่า กลุ่มที่จองผ่านหมอพร้อม ก่อนที่ ศบค.จะชะลอการนัดมีกี่คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง ที่ควรจะได้รับวัคซีนก่อนเพราะเสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรง และเสียชีวิต

“ถ้าตรงนี้ถูกเท สธ.จะรับมาฉีดเอง เรามีสถานีกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร รพ.ศรีธัญญา รพ.ราชวิถี สถาบันโรคทรวงอก ฯลฯ เราก็จะเก็บตกในเขต กทม.มาฉีด นี่คือการทำนอกเหนือนโยบาย ซึ่งตอนนี้หมอพร้อมตัวเลข 4 แสนกว่าคน หาก กทม.ยังทำได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากไม่ได้ สธ.พร้อมรับมาฉีดวัคซีนให้ผ่านพ้นไปได้และถูกต้องตามระบบการป้องกันควบคุมโรค”

เมื่อถามว่าต้องหารือกับ กทม.ก่อนหรือไม่เพื่อให้ตัวเลขชัดเจน นายอนุทิน กล่าวว่า จริงๆ กลุ่มหมอพร้อม กทม.อยู่ใน 1 ล้านคนที่ตกลงกันไว้จะได้วัคซีนเดือนมิ.ย. แต่เมื่อมีการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันใหม่ก็ไม่เป็นไรอย่าไปโทษกัน ซึ่งแก้ไขได้ สมมติถูกเท 1-2 แสนคนก็ทยอยรับมาฉีด เพราะกลุ่มนี้นัดแล้วต้องได้รับวัคซีน ถ้าวัคซีนเหลือมากพอก็ไม่หักจาก กทม. ถ้าเหลือน้อยก็ไม่หัก ต้องพูดคุยกันระหว่างกรมควบคุมโรคและกทม. ส่วนต่างจังหวัดยังไม่มีปัญหา

นายอนุทิน กล่าวว่า ตามกำหนดจริง ๆ เดือนมิถุนายน ต้องฉีดผู้สูงอายุ และโรคประจำตัว คนทั่วไปเป็นช่วง สิงหาคม กลุ่มสูงอายุ และโรคเรื้อรัง สมควรรับวัคซีนโดยด่วน

ตอนแรกคิดว่า ตอนชะลอหมอพร้อมไม่ให้นัด แล้วต้องอุ้มกลุ่มนี้ไปด้วย ไม่ใช่เทกลางทาง ซึ่งคงไม่ได้เทหมด เพราะว่าด้วยความเข้าใจ ที่อธิบดีกรมควบคุมโรครายงานมา อยู่ในโควตาของ กทม.อยู่แล้ว แต่อาจจะมีความผิดพลาดเรื่องของการลงบันทึก

พอ กทม.ไปลงทะเบียนผ่านไทยร่วมใจ จริง ๆ ควรย้ายวันเวลานัดจำนวนของหมอพร้อม ไปไทยร่วมใจด้วย นอกจากนี้ ก็ต้องไปหารือสำนักงานประกันสังคมด้วยเช่นกันต้องทำตัวเลขให้ชัดเจน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo