COVID-19

ไม่เลื่อน! ‘อนุทิน’ ยัน ‘ฉีดวัคซีนโควิด’ ตามกำหนด 7 มิ.ย. มั่นใจ ‘ไทย’ ได้วัคซีนตามเป้า

“อนุทิน” ยืนยัน “7 มิ.ย.” ต้องได้ฉีดวัคซีน วอนประชาชนเข้าใจความเป็นจริง วัคซีนเข้ามาเป็นล็อต ไม่ได้เข้ามาหมดในครั้งเดียว จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้บริการได้ครบหมดในเดือนเดียว 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวชี้แจงถึงกรณีมีโรงพยาบาลจำนวนหนึ่ง ประกาศเลื่อนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ของแต่ละจังหวัด เข้าไปทำความเข้าใจแล้ว โดยวันที่ 7 มิถุนายนนี้ จะต้องให้บริการวัคซีนแก่ประชาชน

02e6fe7cd5771be7a157ba645077cc30ec10658eff1bfc156cacb09895d7ca74

ทางกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หน่วยบริการเร่งฉีดให้เร็ว จนไม่สอดคล้องกับจำนวนที่ได้รับ เมื่อวัคซีนหมดก็ต้องรอล็อตใหม่เข้ามา ดังนั้นต้องจัดสรรให้ดี ไม่เช่นนั้นวัคซีนจะหมดก่อนที่ล็อตต่อไปจะมาถึง แต่ขอย้ำว่า คนไทยจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงตามเป้าของรัฐบาลแน่นอน

“บางคนก็ได้ฉีดช้า บางคนก็ได้ฉีดเร็ว เพราะวัคซีนจะเข้ามาเป็นล็อต ๆ ไม่ได้เข้ามารวดเดียวหมด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้บริการเสร็จภายใน 1 เดือน ตรงนี้ ต้องขอให้ประชาชนเข้าใจความเป็นจริง”

ทั้งนี้ การให้บริการได้มีการวางแผนไว้หมดแล้ว อย่างที่ผ่านมาให้บริการกลุ่มเสี่ยง และคนมีโรคประจำตัว ในอนาคตจะให้บริการอย่างกว้างขวางขึ้น สำหรับการจัดสรรวัคซีนลงแต่ละพื้นที่ มีการคำนวณที่ตายตัว ด้วยการนำจำนวนวัคซีนที่มี มาหารจำนวนจังหวัด จากนั้นจะมาคำนวณกับจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ ไปจนถึงสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด ขอย้ำว่าหากเป็นพื้นที่สีแดง จะต้องได้วัคซีนมากกว่าพื้นที่อื่นแน่นอน เพราะเป็นหลักในการควบคุมโรคทั่วไป

ส่วนการกระจายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ไทยเพิ่งได้รับมา 1.8 ล้านโดสนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ได้กระจายลงพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว เพราะมีความต้องการสูง จากนี้ทางผู้ผลิตมีหน้าที่ส่งมอบให้ทันตามสัญญา และต้องหารือกับกรมควบคุมโรค เพื่อวางแผนการให้บริการแก่ประชาชน ให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับ

เมื่อวัคซีนลงไปถึงพื้นที่ ให้เป็นบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด และ สสจ. ในการกระจายวัคซีนในพื้นที่ ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

ระหว่างนั้น กระทรวง ก็ต้องรอให้ผู้ผลิตส่งวัคซีนเข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และความปลอดภัยอย่างละเอียด จึงจะเข้าสู่การให้บริการประชาชนตามขั้นตอน

“สำหรับวัคซีนทางเลือกนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยจะช่วยเหลือเรื่องการขึ้นทะเบียน หากมีขอเข้ามา จากนั้นให้เป็นหน้าที่ของเอกชนในการหารือกับผู้ผลิต เพื่อนำมาให้บริการในประเทศ จะเห็นว่าภาครัฐสนับสนุนการนำเข้าวัคซีนที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo