Politics

‘หมอยง’ ตอบคำถามกรณีฮอร์โมนเพศหญิง ยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์!!

“หมอยง” แจงชัดเรื่องฮอร์โมนเพศหญิง ยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์ พร้อมยืนยันการตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน ไม่จำเป็น ชี้ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจได้ในปัจจุบัน ไม่สามารถบอกได้ว่าระดับแค่ไหน เป็นระดับที่น้อยที่สุดในการป้องกันโรค

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมาร​เวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า โควิด 19 วัคซีน เรื่องของฮอร์โมนเพศหญิง ยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์

ข้อมูลที่ให้ จะตามหลักวิชาการ รายละเอียดต่าง ๆ คงต้องรอราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงให้คำแนะนำ
ในเพศหญิงที่มีฮอร์โมนเพศหญิง หรือในยาคุมกำเนิด และในสตรีตั้งครรภ์ จะมีฮอร์โมนเพศหญิงสูงอยู่แล้ว และเป็นที่ทราบดีว่า เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด ในเส้นเลือดดำใหญ่ได้ (deep vein thrombosis, DVT)

อุบัติการณ์ดังกล่าวในคนเอเชีย เกิดได้น้อยกว่าฝรั่ง และชาวแอฟริกาอย่างมาก

หมอยง31564

เวลาเรานั่งเครื่องบินท่านั่งอยู่กับที่นาน ๆ จะมีการแนะนำให้ขยับเท้าเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด แล้วเกิดลิ่มเลือด คนไทยเราไม่ค่อยเคยเห็น แต่ในฝรั่งเกิดได้บ่อยกว่า

การแข็งตัวของเลือดที่เส้นเลือดดำใหญ่ DVT หรือ มีการพูดถึงฮอร์โมนเพศหญิง ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับ มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ไม่เหมือนกันการเกิดลิ่มเลือด ที่พบในวัคซีน virus vector เช่น AStraZeneca, Johnson &Johnson ซึ่งการแข็งตัวเกิดลิ่มเลือดนั้นจะมี “ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ” ด้วย ที่เรียกกันว่า VITT เป็นคนละโรคกัน และการรักษาก็ต่างกันกับการรักษาในผู้ป่วยที่มีการแข็งตัวของเลือดที่เส้นเลือดดำใหญ่ DVT เพราะเหตุที่เกิดไม่เหมือนกัน

วัคซีน Sinovac เป็นเชื้อตาย คล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบ เอ ที่เป็นเชื้อตายเช่นกัน รวมทั้งวัคซีนบาดทะยักก็เช่นเดียวกัน เป็นวัคซีนที่ใช้กันมานานมาก

การฉีดวัคซีนต่าง ๆ ก็ไม่มีวัคซีนตัวไหน ที่แนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิด รวมทั้งวัคซีน covid 19 ในปัจจุบัน ที่ฉีดไปแล้วทั่วโลกเกือบ 1,800 ล้าน dose ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการแนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิดก่อนฉีดวัคซีน ชีวิตทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างปกติมากที่สุด ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดคงต้องให้ทางราชวิทยาลัยสูติศาสตร์นรีเวชกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเป็นข้อแนะนำ จะดีที่สุด

นอกจากนี้ “หมอยง” กล่าวถึงเรื่อง โควิด-19 วัคซีน การตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนไม่จำเป็น โดยระบุว่า วัคซีนป้องกัน covid 19 ที่เราฉีดกัน การตอบสนองภูมิต้านทานจะเกิดขึ้น หลังฉีดครบแล้ว มากกว่า 99% แม้กระทั่งวัคซีน AstraZeneca เพียงเข็มเดียวภูมิต้านทานก็ขึ้นดีมาก การตรวจจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจได้ในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าระดับแค่ไหน เป็นระดับที่น้อยที่สุดในการป้องกันโรค

ถึงเรารู้ระดับภูมิต้านทาน เราก็จะยังไม่ทำอะไรอยู่ดี การกระตุ้นเข็มที่ 3 ก็ยังไม่มีข้อยุติ จนกว่าจะมีข้อมูลมากกว่านี้

ดังนั้น ผู้ที่ซื้อ ชุดตรวจแบบรวดเร็ว ก็ยิ่งไม่จำเป็นใหญ่ เพราะการตรวจจะมีความไวไม่เพียงพอ จะให้ผลลบจำนวนมาก เสียสตางค์โดยใช่เหตุ

ในการตรวจวัดเชิงปริมาณ หน่วยที่ใช้ก็ยังไม่ได้ใช้หน่วยเดียวกัน ในแต่ละห้องปฏิบัติการขึ้นอยู่กับชนิดของการตรวจ การแปลผลจะสับสนกันมาก จึงไม่มีความจำเป็นในการตรวจ

เราจะเห็นหน่วยเป็น AU (Arbitrary Unit) หรือหน่วยตามอำเภอใจ ของบริษัทที่ตั้งขึ้น หรือหน่วยเป็น unit ยังไม่ได้ใช้หน่วยเดียวกันแบบไวรัส ตับอักเสบบี วัคซีน บางหน่วยเป็น ไดลูชั่น เช่น 1:10, 1:20, 1:40 ,,, หรือบางหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ inhibition ผู้แปลผลจะสับสนมาก

การตรวจขณะนี้อยู่ในงานวิจัยเท่านั้น ไม่ควรนำไปใช้ในเชิงบริการ หรือโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ใช้วัดผลของวัคซีน โดยเฉพาะโรงพยาบาลบางแห่ง นำวิธีการตรวจแบบ เชิงคุณภาพ qualitative แล้วอ่านผลหน่วยเป็น COI คือเปรียบเทียบกับ cut off value ว่าเป็นกี่เท่า

ทำให้ในการตรวจหลายแห่ง โดยเฉพาะใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว หรือชุดตรวจแบบเชิงคุณภาพไม่ใช่เชิงปริมาณจะให้ผลลบเป็นจำนวนมาก ทำให้ดูเหมือนว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันการวัดเชิงปริมาณในการแปลผล ก็ยังไม่มีข้อยุติว่าระดับใดคือระดับที่ป้องกันโรค

การตรวจหลังฉีดวัคซีน จึงไม่แนะนำให้ทำ ขณะนี้อยู่ในการทำเพื่อการวิจัยเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK