COVID-19

จบนะ! สปสช. เคลียร์ รพ.เอกชน คืนเงินผู้ป่วยโควิด ที่มีสิทธิรักษาฟรี

สปสช. เคลียร์ รพ.เอกชน ห้ามเก็บเงินผู้ป่วยโควิด ที่มีสิทธิรักษาฟรี ถ้าเรียกเก็บแล้ว ต้องคืนเงินให้ผู้ป่วย เผยปมปัญหา คิดเงินรักษาโควิด แก้ไขแล้วทุกเรื่อง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ได้จัดประชุมร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศกว่า 300 แห่ง เพื่อชี้แจงแนวทางการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข สำหรับกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และกรณี UCEP โควิด-19 ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ ผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งนี้ สปสช. เคลียร์ รพ.เอกชน กรณีเรียกเก็บเงินผู้ป่วยโควิด

สปสช. เคลียร์ รพ.เอกชน

ที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สปสช.ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากโรงพยาบาลเอกชน ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการเสริมภาครัฐเพื่อดูแลประชาชน โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาให้ และโรงพยาบาลเอกชน จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช. ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่าย ที่ได้มีการกำหนดร่วมกันไว้ ซึ่งในวันนี้ ได้เน้นย้ำขอความร่วมมือ ไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลจากประชาชน และโรงพยาบาลเอกชนยินดี และพร้อมสนับสนุนรัฐบาล

สำหรับกรณีที่มีโรงพยาบาลเอกชน เรียกเก็บเงินจากประชาชน พบว่ามี 3-4 สาเหตุ ประกอบด้วย

1. สปสช.จ่ายเงินช้า ทำให้ต้องเรียกเก็บเงินจากประชาชนไว้ก่อน แต่ขณะนี้ สปสช. ปรับรอบการจ่ายเงินให้เร็วขึ้นเป็นทุก ๆ 15 วัน ดังนั้น ไม่ควรมีการเก็บเงินจากผู้ป่วยด้วยเหตุผลนี้อีก

2. เบิกค่าใช้จ่ายแพงกว่า หรือเกินกว่าอัตราที่มีการตกลงกับ สปสช. ไว้ กรณีนี้ต้องขอให้เก็บตามอัตราที่กำหนด

3. เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่มีในประกาศ ประเด็นนี้ ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะพิจารณาขยายรายการจ่ายให้ และเมื่อขยายแล้ว สปสช. จะจ่ายเงินคืนให้ย้อนหลัง ดังนั้น จึงไม่มีเหตุต้องเก็บจากผู้ป่วย

4. กติกาเบิกจ่ายมีการเปลี่ยนแปลง แต่ทางโรงพยาบาลตามกติกาไม่ทัน เช่น เกณฑ์คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเปลี่ยนเป็นระยะๆ จากเดิมที่ต้องแสดงอาการ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นให้แพทย์พิจารณา บางโรงพยาบาลไม่ทราบ จึงไม่ตรวจเพราะกลัว สปสช.ไม่จ่ายเงิน

สปสช.1

“นี่เป็น 4 สาเหตุที่มีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ตอนนี้แก้ปัญหาหมดแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาร้องเรียนเรื่องถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลนั้น ถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับการรักษา ซึ่งเมื่อ สบส. รับเรื่องจากประชาชนและ สปสช. ที่ส่งเรื่องมา หลายเรื่องเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า เกิดจากความเข้าใจผิด

ทั้งนี้ หลักการของทั้ง สบส. และ สปสช. คือใช้กลไกการไกล่เกลี่ย และดูข้อเท็จจริงว่า ประชาชนมีสิทธิได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิหรือไม่ เมื่อไกล่เกลี่ยกันได้ ก็คืนเงินให้ผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ก็ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ในบางกรณีที่ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ว่ากำลังถูกเรียกเก็บเงิน ขณะที่กำลังรักษาโควิด-19 เนื่องจากตามระบบของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง จะมีการแจ้งอัตราค่ารักษาพยาบาลให้ทราบเป็นระยะ ๆ ซึ่งตรงนี้ สบส.ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือ ให้งดแจ้งค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ป่วยที่มีสิทธิได้รับการรักษาฟรีไปก่อน

ปัจจุบัน สบส. ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ต้องดูแลผู้ป่วยเหมือนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย และโรงพยาบาลเบิกค่ารักษากับ สปสช. ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่อยู่ในรายการที่กำหนด สามารถแจ้งมาที่ สบส. เพื่อพิจารณาขยายเพิ่มเติม แล้วจะคืนเงินให้ เมื่อผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว โดยขณะนี้สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้เสนอเพิ่มเติมรายการเข้ามา 6-7 รายการ

สปสช.

“โรงพยาบาลเอกชนให้ความร่วมมือในการรับมือกับโรคโควิด-19 เป็นอย่างดีมาตลอด ซึ่ง สบส.ก็พยายามดูแลเอกชนเพื่อสนับสนุนให้ท่านทำงานได้สะดวกขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล ถ้าท่านดูแลผู้ป่วยแล้วติดเชื้อโควิด-19 ท่านจะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้น ตามหลักเกณฑ์มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่แทนภาครัฐในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ท่านจะได้รับการดูแลปกป้องเช่นกัน ขณะนี้ สบส.กำลังดำเนินการในเรื่องนี้” นพ.ธเรศ กล่าว

การประชุมชี้แจงกับโรงพยาบาลเอกชนในวันนี้ ครอบคลุม 4 ประเด็นคือ

1. เน้นย้ำประเด็นสำคัญ การขอรับค่าใช้จ่ายค่าตรวจคัดกรอง การตรวจทางห้องปฏิบัติ และบริการอื่นๆ กรณีโรคโควิด-19

2. ทำอย่างไร สถานพยาบาลจะพิสูจน์ตัวตน ประชาชนผู้รับบริการผ่านระบบ Smart card โดยใช้บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดได้อย่างสะดวก

3. ทำความรู้จักกับโปรแกรม e-Claim เพื่อบันทึกขอรับค่าใช้จ่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติ และบริการอื่นๆ กรณีโรคโควิด-19

4. ค่าใช้จ่ายในสถานบริการเอกชน (UCEP-COVID) สำหรับการดูแลกรณีโรคโควิด-19 โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่สอบถามเรื่องหลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษา การบันทึกเพื่อขอรับค่าใช้จ่าย และมีข้อเสนอแนะให้ปรับประกาศบางข้อให้ชัดเจนเพื่อให้การปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo