COVID-19

‘กรณ์’ ห่วงกู้เงิน ‘7 แสนล้าน’ ละลายเล่น จี้อุ้ม ‘ระบบธุรกิจ’ รอวัคซีนออกฤทธิ์

“กรณ์ จาติกวิณช” ห่วง กู้เงิน “7 แสนล้าน” ละลายเล่น จี้ถึงเวลาต้องใส่เงินอุ้ม “ระบบธุรกิจ” รอวัคซีนออกฤทธิ์ ไม่งั้นอีก 5 ปีมีปัญหาแน่

วันนี้ (19 พ.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้า พรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก กรณ์ จาติกวณิช – Korn Chatikavanij ถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาทว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกกู้เงินทั้งหมดเกือบ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

การกู้เงินดังกล่าวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในประเทศตกต่ำและรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่าย โดยภาระต่องบประมาณของประเทศยังอยู่ในระดับที่รับได้ แต่ถ้าหาก GDP ของไทยยังเติบโตเฉลี่ยแค่ 2 – 3% ต่อปี จะทำให้ประเทศมีปัญหาในอีก 4 – 5 ปีข้างหน้า

การแก้ไขปัญหาคือ รัฐบาลต้องใช้เงินกู้ให้เกิดความคุ้มค่า ด้วยการนำไปหล่อเลี้ยงธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการให้อยู่รอดทั้งระบบจนสามารถฉีดวัคซีนโควิด – 19 ได้ตามเป้าหมาย และเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ มิเช่นนั้นเงินกู้ก็จะถูกใช้โดยสูญเปล่า

กรณ์ กู้เงิน 7 แสนล้าน

“กรณ์” เตือน “กู้เงิน 7 แสนล้าน” ต้องใช้ให้ถูกจุด

“ออก พรก. เงินกู้ อีก 700,000 ล้าน

สำคัญอยู่ที่ว่า “ใช้ถูกทางหรือไม่!?”

เมื่อวานนี้รัฐบาลมีมติออกเงินกู้อีก 700,000 ล้าน นับเป็นรัฐบาลที่ออก พรก. กู้เงินฉุกเฉินนอกระบบงบประมาณ ถึงสองครั้งเป็นรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์

รัฐบาลอภิสิทธิ์ออกหนึ่งครั้ง ผมเป็น รมว.คลัง แก้วิกฤตเศรษฐกิจโลก Hamburger สำเร็จด้วย พรก.ไทยเข้มแข็ง ไทยฟื้นไวเป็นอันดับ 2 ของโลก

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกหนึ่งครั้ง อ้างเหตุแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้เพราะโครงการไม่พร้อม

รัฐบาลนี้ออก พรก.พิเศษกู้เงินแก้วิกฤตโควิดสองรอบ (1ล้านล้าน+7แสนล้าน) รวม 1.7 ล้านล้านบาท เท่ากับ 10% ของ GDP

รอบล่าสุดนี้ ก้อนแรก 7 แสนล้านคือการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2565 ก้อนสองอีก 7 แสนล้านโดยออกเป็น พรก.พิเศษ รวม 1.4 ล้านล้าน

รวมสองปี การกู้ทั้งหมดของ ‘64 และ ‘65 รวมเกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 20% ของ GDP

สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำ และฟื้นช้าเพราะวัคซีนยังไม่เรียบร้อยดี คนไทยยังกลับไปทำมาหากินยังไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องกู้ และกู้โดยไม่มีทางเลือกอื่น

shutterstock 759959308

ถามว่า การกู้ครั้งใหม่นี้มีผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือไม่ คำตอบคือในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงิน คำตอบคือ ไม่กู้ไม่ได้อยู่ดี

โดยที่ ‘ภาระต่องบประมาณ’ ยังรับได้อยู่ (สัดส่วนงบดอกเบี้ยและงบคืนเงินต้น เทียบกับงบรายจ่ายโดยรวมของรัฐบาล) แต่นั่นเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยช่วงนี้ต่ำมาก และเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นว่าดอกเบี้ยนโยบายประเทศอื่นจะปรับขึ้น เพราะสัญญาณเงินเฟ้อเริ่มกลับมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป

ทั้งหมดจะไม่เป็นปัญหาหากเศรษฐกิจเราฟื้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้า GDP เราโตได้เฉลี่ยเพียงปีละ 2 – 3% ไปอีก 4 – 5 ปี เราอาจจะเริ่มมีปัญหา

ดังนั้นการใช้เงินจึงต้องเข้าเป้า และนี่คือ โจทย์ที่สำคัญที่สุดนะครับ ต้องกู้แต่ต้องใช้ เงินกู้ ให้คุ้มที่สุด!

รอบแรก 1 ล้านล้านบาทผมให้แค่ 6/10 คะแนน จากส่วน ’เยียวยา’ ผมถือว่ารัฐบาลทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ‘เราไม่ทิ้งกัน’ หรือ ‘คนละครึ่ง’ ฯลฯ แต่ที่หัก 4 คะแนน ผมว่าผิดเป้า เพราะเอาไป  ‘ฟื้นฟู’ ในเรื่องไม่เป็นเรื่องเสียเยอะ และเบิกจ่ายช้ามาก ไม่สมกับเป็น ‘งบฉุกเฉิน’ ตามนิยามของ ‘พรก.’

รอบใหม่นี้ไม่ควรแจกแนวเดิม และไม่ควรมีเรื่องฟื้นฟูไม่เป็นเรื่องอีกเลย แต่ต้องยิงให้เข้าเป้า นั่นคือเป้าหมายหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs ร้านอาหาร ธุรกิจภาคบริการทั้งระบบให้อยู่รอดจนถึงการฉีดวัคซีนครบตามเป้า

พรรคกล้า เราเสนอไปหลายครั้ง อย่างล่าสุดเราเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร แต่ก็ถูกกระทรวงการคลังปฏิเสธ

ส่วนใน เงินกู้ 7 แสนล้านใหม่ มีส่วนที่กันไว้เพื่อการฟื้นฟูสูงถึง 270,000 ล้าน ตรงนี้ก็จะนำไปสู่ความผิดพลาดซํ้ากับปีที่ผ่านมา ตรงนี้ต้องปรับครับ

และสำคัญที่สุดที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องเร่งทำคือ ‘ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ’ มิเช่นนั้น เงินกู้ ทั้งหมดนี้ก็จะถูกละลายหายไปโดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทำให้คนไทยรู้สึกมีความหวังมากขึ้น

ทั้งหมดนี้คือ เสียงสะท้อนจากเฮือกสุดท้ายของผู้ประกอบการ รวมไปถึงกรอบเงินกู้ที่ล้นชนเพดานแล้ว”

188567246 10159639045944740 611540004033330772 n

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo