COVID-19

ศบค.กทม. อนุมัติเลื่อนเปิดเทอม 14 มิ.ย. คุมเข้มร้านอาหาร แคมป์ก่อสร้าง

ศบค.กทม. คุมเข้มร้านอาหาร แคมป์ก่อสร้าง สกัดโควิด พร้อมเลื่อนเปิดภาคเรียนเทอม 1 ปีการศึกษา 2564 เป็น 14 มิถุนายน 2564 ตามกระทรวงศึกษาธิการ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุมประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 33/2564 โดยในวันนี้ ประเด็นสำคัญคือ ที่ประชุม ศบค.กทม. คุมเข้มร้านอาหาร แคมป์คนงานก่อสร้าง และเลื่อนเปิดเทอม 1 ปีการศึกษา 2564

ศบค.กทม. คุมเข้มร้านอาหาร

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน รวมถึงผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเพื่อเป็นการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ประชุมศบค.กทม. จึงเห็นชอบเลื่อนการเปิดภาคเรียน ที่ 1/2564 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564

ทั้งนี้ ระหว่างรอเปิดภาคเรียน ทาง กทม. จะเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ ครู และบุคลากรทางการศึกษาให้ครบถ้วนโดยเร็ว พร้อมทั้งให้สำนักงานเขต ตรวจแนะนำโรงเรียนในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ให้สำนักงานเขตต่าง ๆ จัดเจ้าหน้าที่ ตรวจแนะนำผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งได้รับการผ่อนปรน ให้สามารถเปิดบริการให้ประชาชน นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. โดยขอให้ผู้ประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เคร่งครัด โดยห้ามมิให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านโดยเด็ดขาด รวมทั้งให้ผู้ประกอบการ หมั่นทำความสะอาดพื้นร้าน และอุปกรณ์ภายในร้าน เป็นประจำสม่ำเสมอ ตลอดจนการตรวจเช็คอุณหภูมิพนักงานก่อน เป็นประจำ

อัศวิน 8

สำหรับผู้ใช้บริการ ในร้านอาหาร ให้ตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนเข้าใช้บริการ และแนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ หรือหมอชนะ เมื่อเข้าใช้บริการในร้าน และให้รักษาระยะห่างระหว่างผู้ใช้บริการ ให้พ้นระยะการแพร่เชื้อระหว่างกัน

ขณะเดียวกัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะจัดเจ้าหน้าที่ ออกตรวจแนะนำร้านอาหาร เพื่อแบ่งเบาภารกิจของ กรุงเทพมหานคร อีกทางหนึ่ง

ในส่วนของแคมป์ก่อสร้าง ได้มอบหมายให้สำนักงานเขต ตรวจแนะนำที่พักคนงานก่อนสร้างในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะที่พักคนงาน ที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้สำนักงานเขต ประสานศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ให้คำแนะนำมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด  และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ รับบริการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในชุมชน และกรุงเทพมหานครต่อไป

ศบค.กทม. คุมเข้มร้านอาหาร

ในวันนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ทดลองเปิดระบบ “ศูนย์บริการวัคซีนบิ๊กซี บางบอน” ซึ่งเป็นจุดบริการฉีดวัคซีนนอกรพ. ที่ร่วมกับ หอการค้าไทย และโรงพยาบาลเครือบางปะกอก ซึ่งมีการเตรียมระบบให้วัคซีนที่ปลอดภัย และครบถ้วนในทุกขั้นตอน จนถึงการดูแลและสังเกตอาการ โดยตั้งเป้าหมายในการให้บริการฉีดวัคซีน จำนวน 2,500 – 3,000 คน/วัน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. -16.30 น.

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ได้แก่ บุคลากรส่วนหน้า และอาชีพที่มีความเสี่ยง ต้องให้บริการประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำนักอนามัย ได้นำเข้าข้อมูลไว้ในระบบของ กทม. และต่อไปจะให้บริการวัคซีนแก่ ผู้ที่ขับรถยนต์สาธารณะ พนักงานเก็บค่าโดยสารสาธารณะ จากบริษัทขนส่งต่าง ๆ ซึ่งมีประมาณ 7,000 คน

พร้อมกันนี้ ยังรวมถึงจะฉีดวัคซีนให้กับพนักงานเก็บขน พนักงานกวาด จากสำนักงานเขต คนขับแท็กซี่ วินจักรยานยนต์ พนักงานขนส่งอาหารต่าง ๆ ผู้มีอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น

กทมบิ๊กซี

ขณะที่กลุ่มเป้าหมายต่อไปคือ บุคลากรครู ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีประมาณ 170,000 คน และกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีน ในลำดับถัดมา ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร โดยกทม. จะเร่งขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลให้ครบตามเป้าหมาย 25 แห่งทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางมาฉีดวัคซีน ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือน มิถุนายน-กรกฏาคม 2564 กรุงเทพมหานคร จะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข เดือนละ 2.5 ล้านโดส รวม 2 เดือน 5 ล้านโดส โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการฉีดให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน (มิถุนายน-กรกฏาคม)

ดังนั้น กทม. มีแผนบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 2.5 ล้านคน/เดือน โดยจะกระจายการฉีดวัคซีนทั้งภายในโรงพยาบาลทั้ง 126 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพในการฉีดไม่น้อยกว่าวันละ 20,000 คน และจุดบริการฉีดวัคซีนนอกรพ. 25 แห่ง มีศักยภาพในการฉีดวันละ 38,000-50,000 คน/วัน คาดการณ์ว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า 60,000 คน/วัน คาดว่าน่าจะครบ 5 ล้านคนตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo