Politics

มหันตภัยร้าย ‘โควิด’ 30 วัน คร่าชีวิตมนุษย์ไป 468 คน

มหันตภัยร้าย  ‘โควิด-19   ประเทศไทยเจอศึกหนัก หลังเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่ 17 เม.ย. -15 พ.ค. 2564  ช่วง 30 วัน คร่าชีวิตคนไทยไปถึง 468 ราย เผยผู้เสียชีวิตมีหลายประเภท ส่วนใหญ่มี โรคประจำตัว!

ปี 2563 ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดระลอกแรก การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ แบบ“ซุปเปอร์สเปรดเดอร์” เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2563 จากสนามมวยลุมพินี รวมถึงสถานบันเทิงย่านทองหล่อและรามคำแหง จนรัฐบาลต้องประกาศ “เคอร์ฟิว” ไปทั่วประเทศมีผลวันที่ 3 เมษายน 2563  เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  จนสถานการณ์คลี่คลาย จึงได้ประกาศยกเลิก “เคอร์ฟิว” วันที่ 15 มิถุนายน 2563

กระทั่งเดือนกันยายน 2563 เจอผู้ติดเชื้อรายแรก อาชีพดีเจ หลังไทยปลอดเชื้อมาได้ประมาณ 100 วัน สามารถคุมสถานการณ์ได้จนปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 เกิดความวิตกกันไปทั่วกับการลักลอบจาก ท่าขี้เหล็ก เมียนมา เข้ามาที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ของหญิงสาวกลุ่มหนึ่งที่นำเชื้อมาแพร่กระจายไปยังพื้นที่อีก 7 จังหวัด

ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเดือนเมษา

ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเดือนพฤษภา

ก่อนจะสิ้นปี 2563 เพียงแค่ 14 วัน คนไทยก็ต้องเกิดความหวาดผวาไปทั่ว เมื่อจังหวัดสมุทรสาคร พบการแพร่เชื้อที่ “ตลาดกลางกุ้ง”และ”หอพักศรีเมือง”  ทำให้เชื้อโควิดติดไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยไม่รู้ตัว แม้แต่ “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับเชื้อโควิดเข้าไปด้วย  ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชถึง 82 วัน จนอาการดีขึ้น

การระบาดรอบ 2 มาจบลงในวันที่ 31 มีนาคม 2564  รวมประมาณ 3 เดือนครึ่ง มีผู้ติดเชื้อโควิดทั้งสิ้น 24,626 ราย เสียชีวิต 34 ราย รัฐบาลไม่ใช้ “ยาแรง” หยุดทุกอย่างเหมือนระบาดรอบแรก ไม่มีการล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว แย่ยังเข้มงวดเรื่องการดูแลกิจกรรมที่มีผู้คนจำนวนมาก ทำให้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 1 มกราคม 2564   ไร้งานเคาต์ดาวน์ทั้งหมด

กระทั่งเข้าสู่วันที่ 1 เมษายน 2564 การระบาดรอบ 3 จึงเริ่มขึ้นต่อเนื่อง เริ่มต้นจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การติดเชื้อว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 250 ราย พบจากจังหวัดกรุงเทพฯ มากสุด 156 ราย แบ่งเป็น จากการค้นหาเชิงรุก 119 ราย จากระบบเฝ้าระวัง 37 ราย ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ หลายคนมาจาก คลัสเตอร์ทองหล่อ  เป็นคนที่เคยเดินทางไปยังสถานที่ในย่านทองหล่อ เช่น โรงแรม สถานบันเทิง สถานประกอบการต่างๆ จนทำให้เกิดเป็นข้อสังเกตว่า นี่อาจจะเป็นพื้นที่หลักที่จะนำไปสู่การระบาดในระลอกที่ 3 หรือไม่

ขณะที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. ระบุว่า คลัสเตอร์ทองหล่อ น่าจะเริ่มต้นเมื่อช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2564  สำนักอนามัยของ กทม. ระบุ 3 เมษายน 2564 พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 13 คน ที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ 3 แห่ง ได้แก่ Krystal Club, บาร์บาร์บาร์ และเอกมัยเบียร์เฮาส์ ย่านทองหล่อ-เอกมัย

สถานการณ์จาก คลัสเตอร์ทองหล่อ ดูเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้ว่าฯ กทม.ได้ออกมาตรการสั่งปิดผับ-บาร์ใน 3 เขต คือ เขตคลองเตย เขตวัฒนา และเขตบางแค  ควบคุมการแพร่กระจายของโรค ตั้งแต่วันที่ 6-19 เมษายน 2564  ข้อมูลจาก กทม.ระบุว่า มีสถานประกอบการที่ถูกปิดจากคลัสเตอร์ทองหล่อทั้งหมด 156 แห่ง  หลังจากนั้นยังแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ทั้งยอดติดเชื้อสะสม และยอดเสียชีวิตจากโควิด-19 เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเป็นช่วงหลังจากวันที่ 25 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ปีนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์เหมือนปี 2563 ยอดผู้เสียชีวิตเป็นเลข 2 หลัก เรื่อยมาจนกระทั่งถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564

ยอดผู้เสียชีวิตเมษายน

ยอดผู้เสียชีวิตพฤษภาคม

กระทั่ง เกิดปัญหาใหญ่เกิด คลัสเตอร์ชุมชนแออัด เขตคลองเตย ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษาคม 2564 กรุงเทพมหานคร รายงานผลการตรวจหาเชื้อ COVID-19 เชิงรุก ในชุมชนคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน-12 พฤษภาคม 2564 ทั้งหมด 26,799 คน โดยตรวจเพิ่ม 1,707 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 292 คน ขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทราบผลแล้ว 21,450 คน พบไม่ติดเชื้อ 20,304 คน ติดเชื้อ 1,146 คน คิดเป็น 5.34 % โดย กทม. จะตรวจหาเชื้อเชิงรุกให้มากที่สุด และเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชุมให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนพฤษภาคม ได้เกิดการแพร่ระบาดไปยังหลายจังหวัด มีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ มีทั้งในส่วนของสถานบันเทิง โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง ตลาดสด เป็นต้น การแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 มีจำนวนผู้เสียชีวิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยยอดผู้เสียชีวิตเป็นเลขสองหลักมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม จนกระทั่งล่าสุดวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ยังมียอดผู้เสียชีวิตถึง 15 คน ต้องยอมรับว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว

ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากประชาชนคนไทยได้ รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างทั่วถึงในกลุ่มกลุ่มวัย น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น คนไทยน่าจะภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งการจัดการในส่วนของวัคซีนก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนที่จะสามารถนำเข้าวัคซีนได้ หากมีวัคซีนเกิดขึ้นในหลายๆช่องทางน่าจะส่งผลดีต่อประชาชน ที่จะเป็นทางเลือกในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight