COVID-19

‘20 นักบิน’ โวย! ‘นกแอร์’ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม อ้างรอแผนฟื้นฟูฯ ถึงจ่ายชดเชย

“20 นักบิน” ร้องกระทรวงแรงงาน “นกแอร์” เลิกจ้างไม่เป็นธรรม สายการบินอ้างต้องรอแผนฟื้นฟูฯ คืบหน้าถึงจ่ายเงินชดเชยได้

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในเวลา 15.00 น. วันนี้ (11 พ.ค.) สมาคมฯ จะนำนักบิน (กัปตัน) ของสายการบินนกแอร์ประมาณ 20 คน เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนกรณีบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK มีคำสั่งเลิกจ้างกลุ่มพนักงานการบินเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยจริงตามกฎหมาย

นกแอร์ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ได้มีหนังสือเลิกจ้างมายังกลุ่มพนักงานที่เป็นนักบินจำนวนมาก โดยอ้างว่า บริษัทประสบปัญหาด้านการเงิน และขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ส่งผลให้ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินจนเป็นเหตุให้บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

โดยบริษัทจะต้องปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องควบรวมฝ่ายงาน หรือยุบโครงสร้างบางฝ่ายงาน ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อนักบินเป็นจำนวนมาก

ขณะนี้นักบินหลักและนักบินผู้ช่วยทั้งหมดกว่า 20 คนได้รับหนังสือแจ้งการเลิกจ้างแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยบริษัทสายการบินนกแอร์อ้างว่าจะจ่ายเงินชดเชย และเงินอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมภายใต้กระบวนการของการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายต่อไปได้เสียก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งถือว่า นกแอร์ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ต่อพนักงานของบริษัท เพราะตามหลักกฎหมายเมื่อบริษัทมีหนังสือเลิกจ้างแล้วมีผลวันใดบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยและเงินอื่น ๆ ตามกฎหมายทันที ไม่ใช่ให้รอฟ้ารอฝนโดยไม่รู้ว่าจะได้รับเงินเมื่อไร

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวได้เรียกนักบินไปเซ็นชื่อแกมบังคับเพื่อขอลดค่าจ้างลงมาครึ่งหนึ่งประมาณ 2 – 3 ครั้งเพื่อให้ฐานเงินเดือนต่ำที่สุด ก่อนบอกเลิกจ้าง หากใครไม่ยอมเซ็นก็จะถูกเลิกจ้างโดยทันที ทำให้นักบินส่วนใหญ่จำต้องเซ็นชื่อให้เพราะกลัวตกงาน แต่ทางบริษัทกลับไม่ให้สำเนาหนังสือดังกล่าวให้พนักงานเก็บไว้คนละชุด และไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ ในหนังสือดังกล่าว ซึ่งบริษัทจะนำกลับไปกรอกข้อความอย่างไรก็ได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 2540 การใช้เทคนิคการเซ็นสัญญาเพื่อขอลดค่าจ้างลงมาจนถึงฐานเงินเดือนต่ำสุดก่อนบอกเลิกจ้าง จึงอาจเป็น “โมฆะ”ได้

ด้วยเหตุดังกล่าว นักบินของนกแอร์กว่า 20 คนจึงมาร้องขอความช่วยเหลือจากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เพื่อขอให้ช่วยนำพาไปร้องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อขอสั่งการช่วยให้ความเป็นธรรม และดำเนินการทางกฎหมายขั้นสูงสุดต่อบริษัทดังกล่าวในวันนี้ เวลา 15.00 น. ณ ที่ทำการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ดินแดง กรุงเทพฯ

shutterstock 1112630867

“นกแอร์” วิกฤติ! ยื่นฟื้นฟูกิจการ

บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัดสัญชาติไทย ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด – 19 เนื่องจากบริษัทมีผลประกอบการการขาดทุนต่อเนื่องหลายปี

ในปี 2563 นกแอร์จึงได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อ ศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ โดยให้เหตุผลถึงภาระหนี้สิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 จำนวน 26,522 ล้านบาท และนกแอร์นับเป็นสายการบินสัญชาติไทยแห่งที่ 2  ซึ่งยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อมาศาลมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว ส่งผลให้สายการบินนกแอร์อยู่ในสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay)

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ คือ ศาลอนุญาตให้นกแอร์ขยายระยะเวลาส่งแผนฟื้นฟูฯ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 หรือครั้งสุดท้าย ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 โดยนกแอร์ให้เหตุผลว่า ผู้ทำแผนอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหาแนวทางในการชำระหนี้แก่บรรดาเจ้าหนี้ที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงกำหนดหลักการและวิธีการในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ประเภทต่าง ๆ และการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจการบิน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบก่อนที่จะนำมาระบุในแผนฟื้นฟูฯ

จากข้อมูลล่าสุด ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 สายการบินนกแอร์มีผลประกอบการขาดทุน 3,935 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์รวม 21,450 ล้านบาท หนี้สินรวม 26,238 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,514 ล้านบาท โดยปัจจุบันนกแอร์ยังไม่ได้ส่งข้อมูลงบการเงินไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ด้านผู้ถือหุ้นใหญ่ของ นกแอร์ คือ ตระกูลจุฬางกูรในสัดส่วนรวม 74.96% ประกอบด้วย นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร 26.38% นายณัฐพล จุฬางกูร 26.07% และนาย ทวีฉัตร จุฬางกูร 22.51% ด้านบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นเป็นอันดับ 4 ด้วยสัดส่วน 13.28% และล่าสุดการบินไทยแสดงความประสงค์จะขายหุ้นนกแอร์ออกไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo