COVID-19

‘หมอมนูญ’ เฉลย ทำไม ‘คนอ้วน’ เสี่ยงเสียชีวิตสูงจากโควิด แนะฉีดวัคซีนด่วน

ทำไม ‘คนอ้วน’ เสี่ยงเสียชีวิตสูงจากโควิด หมอมนูญ มีคำตอบ พร้อมข้อแนะนำ ต้องพยายามลดน้ำหนัก ออกกำลังกายกลางแจ้ง ฉีดวัคซีนโดยเร็ว

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ไขข้อข้องใจ ทำไม คนอ้วน เสี่ยงเสียชีวิตสูงจากโควิด พร้อมข้อแนะนำ เพื่อลดความเสี่ยง สำหรับผู้มีภาวะน้ำหนักเกิน ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ทำไม คนอ้วน เสี่ยงเสียชีวิตสูงจากโควิด

“คนอ้วน เสี่ยงเสียชีวิตสูงจากโควิด

ทำไมคนอ้วน ถึงมีความเสี่ยงสูง ที่จะป่วยหนัก และเสียชีวิต เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โรคอ้วน ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ไขมันภายในช่องท้อง ดันกล้ามเนื้อกระบังลม ขึ้นไปในทรวงอกมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อกระบังลม ทำงานได้ไม่เต็มที่

ไขมันที่ทรวงอก มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อต้องออกแรงมากขึ้น เพื่อให้ทรวงอกขยายตัว แรงต้านมากขึ้น ทำให้ปริมาตรของอากาศเข้าปอดน้อยลง  หลอดลมอาจปิด ถุงลมของปอดส่วนล่าง อาจแฟบ ทำให้การแลกเปลี่ยน ของก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลง ส่งผลให้หายใจถี่ขึ้น เกิดภาวะออกซิเจนต่ำ โดยเฉพาะเวลานอนหงาย

มนูญ ลีเชวงวงศ์
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

บอกภาวะอ้วนโดยใช้ดัชนีมวลกายหรือ Body Mass Index (BMI) คำนวณจากน้ำหนักตัว(กิโลกรัม)และความสูง(เมตร)โดยใช้สูตร

BMI = น้ำหนัก(กิโลกรัม)/ ความสูง(เมตรยกกำลัง 2 : m2) แบ่งระดับความอ้วน เป็นระดับต่าง ๆ ดังนี้

BMI 18.5-24.9 kg / m2 เท่ากับ ปกติ

BMI 25.0- 29.9 kg / m2 เท่ากับ ภาวะน้ำหนักตัวเกิน

BMI > 30 kg / m2 เท่ากับ อ้วน

คนอ้วนมีภูมิคุ้มกันลดลง มีการอักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้น มีโอกาสลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่าง ๆ มากขึ้น

คนอ้วน

เมื่อคนอ้วนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อไวรัสจะแบ่งตัว ในทางเดินหายใจ มากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เกิดการอักเสบของปอดมากขึ้น ส่งผลให้มีการทำลายของเนื้อปอด มากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เนื่องจากความจุของปอด และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจ เข้าและออก ของคนอ้วนลดลง

ประกอบกับคนอ้วน เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดบ่อยขึ้น ทำให้ระบบหายใจของคนอ้วน ล้มเหลวเร็วขึ้น ใส่เครื่องช่วยหายใจ มีโอกาสเสียชีวิต มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ คนที่น้ำหนักตัวเกิน ก็มีความเสี่ยง แต่น้อยกว่าคนอ้วน (ดูรูป)

ช่วงนี้ คนอ้วน และคนที่น้ำหนักตัวเกิน ต้องพยายามลดน้ำหนัก ด้วยการกินอาหารให้น้อยลง ออกกำลังกายกลางแจ้ง อย่าเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ อย่าเข้าไปในสถานที่ปิด คนอยู่กันเยอะ ๆ อากาศถ่ายเทไม่ดี รีบจองคิว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยด่วน”

ขณะที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ การที่มีการสะสมของไขมันมากขึ้นนี้ อาจเนื่องมาจากร่างกายได้รับพลังงาน เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ จึงมีการสะสมพลังงานที่เหลือ เอาไว้ในรูปของไขมัน ตามอวัยวะต่าง ๆ และนำมาซึ่งสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อ

โรคอ้วนที่ผลร้ายต่อสุขภาพมีอยู่ 2 ประเภท คือ

  • อ้วนลงพุง

เป็นลักษณะของคนอ้วน ที่มีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้อง และอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหารและอื่น ๆ ไขมันที่อยู่ในอวัยวะภายในเหล่านี้ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง โดยรอบพุงที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 ซม. จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า

  • อ้วนทั้งตัว

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ โดยไขมันที่เพิ่มขึ้น มิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ บางคนนอกจากเป็นโรคอ้วนทั้งตัวแล้วยังเป็นโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วย จะมีโรคแทรกซ้อนทุกอย่าง และโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวมาก ได้แก่ โรคไขข้อ ปวดข้อ ข้อเสื่อม ปวดหลัง ระบบหายใจทำงานติดขัด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo