Politics

‘หมอหนู’ ขอทุกคนมั่นใจ ‘วัคซีนโควิด’ ย้ำ! ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ คือวัคซีนหลัก!

“อนุทิน” ขอประชาชนเชื่อมั่น “วัคซีนโควิด” วอนฉีดช่วยชาติสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ย้ำ!! สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ “แอสตร้าเซนเนกา” จะเป็นวัคซีนหลักของไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแผนบริหารจัดการ”วัคซีนโควิด” โดยระบุว่า สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะเป็นวัคซีนหลักของไทย ซึ่งผลิตในไทยโดย “สยามไบโอไซเอนซ์” ได้เริ่มผลิตตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ตามแผน จะเริ่มส่งให้ไทยได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ผู้ผลิตได้แจ้งว่า วัคซีนได้มาตรฐานฝ่ายการตรวจสอบจากต่างประเทศ และผลิตได้ตามกำหนด และได้มาตรฐานในระดับสากล

“แน่นอนว่า ที่ผ่านมามีการวิพากษ์ วิจารณ์วัคซีน ขอให้ย้อนกลับไปดูที่กระบวนการพิจารณานำเข้ามาให้บริการนั้น ผ่านการคิดวิเคราะห์คำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพของวัคซีน ความปลอดภัย ซึ่งมีการเห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาการด้านการใช้วัคซีน” นายอนุทิน กล่าว

อนุทิน10564

นอกจากนี้ ต้องผ่านการตรวจสอบเห็นชอบจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงาน อย. การนำเข้ามา ตรวจสอบมาแล้วหลายขั้นตอน ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในวัคซีน รัฐได้จัดหาวัคซีนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

ทั้งนี้ เรื่องการเกิดอาการไม่พึงประสงค์นั้น มีเกณฑ์การจ่ายชดเชยให้ตามกฎหมาย แต่รัฐพร้อมจะเข้าไปดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบแน่นอน นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือจากประชาชนหลังฉีดวัคซีน ให้เฝ้าดูอาการประมาณ 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน ขอย้ำว่าวัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีน

1. เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อ
2. ป้องกันไม่ให้อาการหนัก
3. ป้องกันไม่ให้ตาย

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เราต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเชื่อมั่นในวัคซีน สิ่งที่สำคัญของวัคซีน คือช่วยให้ป่วยแล้วอาการไม่หนัก ทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อน้อยลงไปด้วย

“ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำการหารือกับไฟเซอร์ โดยไฟเซอร์ได้แจ้งว่าวัคซีนไม่ต้องเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ๆ แล้ว และวัคซีนยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มอายุ 12 ปี ซึ่งในไทย ยังไม่มีตัวไหนครอบคลุมในกลุ่มอายุนี้ รัฐบาลจึงต้องนำมาพิจารณาเป็นพิเศษ ทางไฟเซอร์จะพยามจัดส่งให้ได้ หากทางเรารับเงื่อนไข ในการจัดซื้อ เงื่อนไขทางด้านกฎหมาย เงื่อนไขด้านการชำระเงิน และเงื่อนไขในการจัดส่ง เมื่อคู่เจรจายอมรับเงื่อนไขของกันและกัน ไฟเซอร์สามารถส่งให้ไทยได้ไม่เกิน 20 ล้านโดส ภายในครึ่งปีหลัง” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามถึงการขึ้นทะเบียนวัคซีน นายอนุทิน กล่าวว่า ภาครัฐเปิดกว้าง ขอให้เอกชน หรือผู้ผลิต นำเอกสารมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งภาครัฐไม่มีการถ่วงเวลาแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo