Politics

‘อ.ปริญญา’ งัด 3 ข้อโต้คำวินิจฉัยปม ‘ธรรมนัส’ ชี้คนฟังเหตุผลแล้วยากจะยอมรับ

“อ.ปริญญา” งัด 3 ข้อโต้ คำวินิจฉัย ปม “ธรรมนัส” ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ชี้คนฟังเหตุผลแล้วยากจะยอมรับ กระทบความเชื่อมั่นฝ่ายตุลาการ 

เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความทางวิชาการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ถึงประเด็นคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีถูกร้องจากการถูกตัดสินให้มีความผิดฐานค้ายาเสพติดและถูกตัดสินจำคุกที่ประเทศออสเตรเลีย ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย ธรรมนัส

“อ.ปริญญา” โพสต์คนฟัง คำวินิจฉัย ปม “ธรรมนัส” แล้วยอมรับยาก

“ความยุติธรรมไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมา แต่ต้องทำให้เห็นว่าที่ทำลงไปนั้นคือความยุติธรรม

ปัญหาของคำวินิจฉัยล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ

ปัญหาของคำวินิจฉัยล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ใช่ตัวคำวินิจฉัยที่ให้รัฐมนตรีคนหนึ่งพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่ง แต่คือเหตุผลของคำวินิจฉัย ที่คนจำนวนมากอ่านแล้วรู้สึกยากจะยอมรับครับ

ประเด็นในการวินิจฉัยโดยสรุปคือ การตีความคำว่า “คำพิพากษา อันถึงที่สุด” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ซึ่งกำหนดว่า ผู้ที่ “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิด” ตามกฎหมายต่างๆ (ซึ่งมี “กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า” อยู่ด้วยนั้น) จะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และจะต้องห้ามมิให้เป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 และหากเป็นรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 นั้น หมายถึง คำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลประเทศอื่น ด้วยหรือไม่?

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยให้เหตุผลสรุปได้ 3 ประการ คือ หนึ่ง ศาลไทยไม่อยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของศาลประเทศอื่น สอง การกระทำที่ผิดกฎหมายประเทศอื่นอาจไม่ผิดกฎหมายไทย และสาม การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ อาจทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมของศาลต่างประเทศได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญท่านจึงตีความว่า “คำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิด” ที่จะทำให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้นั้น ต้องเป็นคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลไทยเท่านั้น ดังนั้น รัฐมนตรีผู้ถูกร้องจึงไม่พ้นจากตำแหน่ง

ศาลรัฐธรรมนูญ 1.0

ด้วยความเคารพ ผมเห็นว่าเหตุผลดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาหลายประการที่จำต้องเขียนโต้แย้ง ซึ่งผมขอให้เหตุผลไปทีละประเด็น ดังต่อไปนี้ครับ

(1) เหตุผลแรกของศาลรัฐธรรมนูญคือ อำนาจตุลาการของไทยไม่อยู่ภายใต้อำนาจตุลาการของประเทศอื่น ถ้าเรายอมรับคำพิพากษาของศาลประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยไม่มีสนธิสัญญาที่จะยอมรับคำพิพากษาของกันและกัน ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าจะ “ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือน”

ผมเห็นว่าเหตุผลนี้ควรต้องมีการโต้แย้ง เพราะหลักกฎหมายอาญามีหลักสำคัญหลักหนึ่งคือ ไม่มีการลงโทษซ้ำในการกระทำที่มีการลงโทษไปแล้ว (ne bis in idem) ซึ่งรวมถึงการลงโทษจาก คำพิพากษา ของศาลประเทศอื่นด้วย ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยได้ใช้หลักนี้โดยบัญญัติไว้ที่มาตรา 10 ว่า “ผู้ใดกระทําการนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามมาตราต่างๆ .. ห้ามมิให้ลงโทษผู้น้ันในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า .. (2) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว”

ทั้งนี้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 5 (1) บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่า ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย” จึงทำให้คนไทยที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในต่างประเทศจะต้องรับโทษในประเทศไทยด้วยนั้น วรรคสองของมาตรานี้บัญญัติให้นำมาตรา 10 ของประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลมครับ

หมายความว่า ประมวลกฎหมายอาญาของไทยมีหลักให้ ยอมรับคำพิพากษาของศาลประเทศอื่น ในกรณีที่ศาลประเทศนั้นพิพากษาให้ลงโทษและผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษจนพ้นโทษแล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องมีการลงโทษซ้ำต่อการกระทำที่ถูกลงโทษไปแล้ว และกฎหมายยาเสพติดของประเทศไทย ก็กำหนดให้นำหลักนี้มาใช้ โดยไม่ต้องมีสนธิสัญญายอมรับคำพิพากษาระหว่างกัน หรือจะเป็นการกระทบต่ออำนาจอธิปไตยแต่ประการใดครับ

ว่าง่าย ๆ คือถ้าใครต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดที่ประเทศอื่นและรับโทษครบแล้ว กฎหมายไทยก็กำหนดไม่ให้มีการดำเนินคดี พิพากษา และลงโทษเขาที่ประเทศไทยอีก แต่ถ้าไปกระทำในต่างประเทศแล้วยังไม่ถูกพิพากษาให้รับโทษ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีในประเทศไทย และอาจจะต้อง “คำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด” และทำให้เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ดังนั้น การปฏิเสธไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศโดยสิ้นเชิงในการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีโดยอ้างเหตุผลเรื่องอำนาจอธิปไตยของศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายอาญาของไทย และเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด

(2) เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญประการที่สองคือ กฎหมายอาญาของแต่ละประเทศกำหนดฐานความผิดไว้แตกต่างกัน โดยชี้ว่า “การกระทำอย่างเดียวกันกฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิดแต่กฎหมายของไทยอาจไม่กำหนดให้เป็นความผิดก็ได้” ดังนั้น จึงเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ไม่ได้

ผมเห็นว่าถูกต้องแล้วที่เราไม่อาจนำคำพิพากษาของประเทศอื่นมาใช้อย่างอัตโนมัติทุก คำพิพากษา ของทุกประเทศได้ เพราะการกระทำที่ผิดในประเทศอื่น อาจไม่เป็นความผิดในประเทศไทย ประเด็นนี้ของศาลรัฐธรรมนูญถูกต้องแล้วครับ แต่เนื่องจากความผิดฐานยาเสพติด เป็นความผิดทั้งในประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย และมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามยาเสพติดฯ ก็บัญญัติไว้ว่า คนไทยที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนอกประเทศไทย จะต้องรับโทษในไทยด้วย แต่กรณีนี้มีการรับโทษและพ้นโทษในต่างประเทศแล้ว กฎหมายจึงไม่ให้ลงโทษอีก ประเด็นนี้อาจรับฟังได้ หากเป็นการต้องคำพิพากษาในต่างประเทศสำหรับการกระทำที่ไม่เป็นความผิดในประเทศไทย แต่เนื่องจากการกระทำนี้ถือเป็นความผิดในประเทศไทยด้วย ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้นเช่นเดียวกันครับ

ธรรมนัส99 e1583169826587

(3) สำหรับประเด็นที่สามคือ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า หากตีความว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” หมายรวมถึง คำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย “อาจทำให้ไม่สามารถกลั่นกรองหรือตรวจสอบ ความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว”

ผมเห็นด้วยว่า การยอมรับ คำพิพากษา ของศาลประเทศอื่นโดยอัตโนมัติ อาจจะทำให้ไม่สามารถกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลต่างประเทศได้จริงๆ เพราะอาจจะมีบางประเทศที่กระบวนการยุติธรรมและระบบศาลแย่กว่าของประเทศไทย แต่กระบวนการพิจารณาของศาลประเทศออสเตรเลียมีปัญหาเรื่องหลักนิติธรรมที่แย่กว่าเรา และทำให้เราไม่อาจยอมรับได้จริงหรือ? ผมเกรงว่าศาลออสเตรเลียอาจจะคิดตรงข้ามครับ

เหตุผลข้อนี้ก็จะฟังขึ้นหากเป็นคำพิพากษาจากประเทศเผด็จการที่ศาลถูกแทรกแซงได้ ศาลไทยก็ไม่ควรที่จะยอมรับ แต่เนื่องจากประเทศออสเตรเลียไม่ได้มีปัญหานั้น แล้วความจริงศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบคำพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลียว่า พิจารณาโดยชอบด้วยหลักนิติธรรมหรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญสามารถร้องขอได้โดยตรงจากศาลออสเตรเลียอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงไปขอให้ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และกระทรวงต่างประเทศไปขอสำเนา คำพิพากษา แล้วไม่ได้ ก็สรุปไปเลยว่าตรวจสอบไม่ได้เช่นนี้ ดังนั้น การเอาเหตุผลนี้มาใช้จึงเป็นปัญหาเช่นกันที่ทำให้คนรู้สึกเห็นต่างไปจากศาลครับ

โดยสรุปคือ ผมเห็นว่าเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสามประการมีปัญหาที่ทำให้คนรู้สึกไม่ยอมรับ ไม่เพียงแต่คนทั่วไปที่ใช้สามัญสำนึก แต่คนในวงการกฎหมายก็เห็นว่าเป็นเหตุผลที่มีปัญหาครับ

มีคำกล่าวมาตั้งแต่เกือบร้อยปีมาแล้ว แล้วก็เอามาสอนกันในโรงเรียนกฎหมายกันทั่วไป โดยผู้พิพากษาของอังกฤษชื่อลอร์ด Hewart ในคดี Rex v. Sussex Justices, [1924] ว่า

“Justice is not only to be done, but also seen to be done!” แปลเป็นไทยได้ความว่า ความยุติธรรมไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมา แต่ต้องทำให้เห็นด้วยว่าที่ทำลงไปนั้นคือความยุติธรรม!

ศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นมาแล้วหรือไม่ และรัฐมนตรีคนนี้ควรพ้นตำแหน่งหรือไม่ เป็นประเด็นหนึ่ง แต่ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน และอาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำคือประโยคหลังครับ Justice is seen to be done คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำให้คนเขาเห็นหรือไม่ ว่าที่ทำลงไปนั้นคือ ความยุติธรรม

ผมเห็นว่าในขณะนี้ฝ่ายตุลาการของประเทศไทยดูจะมีปัญหาตรงนี้อยู่มากในเรื่องทำให้คนเห็นว่าศาลได้ให้ความยุติธรรมแล้ว แล้วก็ไม่ได้มีแต่ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งคำถามทั้งคดีนี้และคดีก่อนหน้านี้อีกหลายคดี แต่ศาลยุติธรรมก็ถูกตั้งคำถามมากในขณะนี้ในเรื่องการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีบางคดีด้วยครับ

ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่คนรู้สึกกับศาลว่าไม่ให้ความเป็นธรรมมากเท่านี้มาก่อน ซึ่งกระทบต่อความเชื่อถือของผู้คนที่มีต่อฝ่ายตุลาการ และหลักการปกครองโดยกฎหมายที่ ทุกคน และ ทุกฝ่าย เสมอกันภายใต้กฎหมาย และดังนั้น ด้วยความเคารพ จึงเป็นเรื่องด่วนที่ศาลควรต้องแก้ไขครับ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo