Politics

รักษาโควิดเบิกสปสช!! เปิดสายด่วนรับร้องเรียน ถูกรพ.เอกชน เรียกเก็บค่าตรวจ-ค่ารักษา

สปสช.ขอโรงพยาบาลเอกชน อย่าเรียกเก็บเงินกรณีโควิด-19 ย้ำรัฐบาลรับผิดชอบให้คนไทยตรวจ-รักษา ไม่เสียค่าใช้จ่าย ยันรัฐบาลจ่ายแทนประชาชน พร้อมเปิดสายด่วนรับร้องเรียน “ถูกเรียกเก็บค่าตรวจรักษาโควิด-19” เผยโอนค่าตรวจ-รักษาโควิด แล้ว 2.7 พันล้าน ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสายด่วน 1330 ของ สปสช. พบว่าช่วงนี้มีประชาชนจำนวนหนึ่งโทรเข้ามาร้องเรียนว่า ได้ไปรับบริการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วถูกเรียกเก็บเงิน  เรื่องนี้สร้างความไม่สบายใจอย่างมาก ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ควรเป็นอุปสรรค ในการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการระบาดหนักเช่นนี้ ขอย้ำว่าประชาชนคนไทยทุกคน ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากตรวจพบว่าติดเชื้อก็ไม่ต้องเสียค่ารักษาใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน

ต้องขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชน อย่าเก็บเงินจากผู้ป่วย เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆนั้นทาง สปสช.จ่ายให้ครอบคลุมหมดแล้วตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การรักษา ไปจนถึงการส่งตัวผู้ป่วย ซึ่งอัตราการใช้จ่ายตามรายการต่างๆก็ได้ตกลงร่วมกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว

โควิด9

“ยกตัวอย่างผู้ป่วยบางรายได้รับการส่งตัวจาก Hospital มารักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่กลับถูกเรียกค่ารถ Ambulance 5,000 บาท บางคนป่วยเป็นโควิดแล้วถูกเรียกเก็บเงินค่าตรวจ 5,600 บาท แถมทั้งครอบครัวติดโควิดกัน 4 คนก็ถูกเรียกเก็บค่าตรวจทุกคน อ้างว่าโรงพยาบาลแจ้งว่าไม่มีนโยบายตรวจฟรี บางคนจะเข้ารับการผ่าตัด หมอก็แจ้งให้ไปตรวจโควิดมาก่อน แล้วก็มีค่าตรวจโควิดให้ต้องมีค่าตรวจ 3,900 บาท เป็นต้น  จริงๆภาครัฐเรากำหนดค่าใช้จ่ายต่างๆให้มาเบิกกับ สปสช.อยู่แล้ว และเราก็จ่ายจริง ผู้ป่วยสีแดงค่ารักษา 8 แสนถึง 1 ล้านบาทเราก็จ่ายมาแล้ว ผู้ป่วยสีเหลืองค่ารักษา 4 แสนบาทก็จ่ายมาแล้ว แล้วตอนนี้เราก็ปรับระบบการจ่ายเงิน จากจ่ายทุกเดือนเป็นจ่ายทุกๆครึ่งเดือน ซึ่งก็จะช่วยให้โรงพยาบาลมีสภาพคล่องที่ดีมากขึ้น แล้วยังจัดตั้งสายด่วนให้โรงพยาบาลโทรมาสอบถามขอคำแนะนำในเรื่องการเบิกจ่ายเงินอีก ดังนั้นต้องขอความร่วมมือกันอีกครั้งว่าอย่าเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย” นพ.จเด็จ กล่าว

สปสป3

ทั้งนี้ ตามประกาศ สปสช. เรื่อง การขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 (ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติม) กำหนดอัตราจ่ายค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลทั้งการตรวจและการรักษา รวมไปถึงค่าที่พักอื่นๆ เช่น

โรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel โดยค่าตรวจแบบ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท/ครั้ง

ค่าเก็บตัวอย่างส่งตรวจ 100 บาท/ครั้ง

ค่าบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ 600 บาท/ครั้ง

ค่ายารักษาผู้ป่วยใน จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย

ค่าห้องดูแลการรักษารวมค่าอาการ จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาท/วัน

ค่าห้องความดันลบหรือห้อง ICU ซึ่งเป็น UCEP COVID-19 หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตกรณีโควิด วันละ 5,000 บาท

ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 และสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospitel) จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาท/วัน

ค่ายานพาหนะรับส่งจ่ายตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายของสำนักงานฯ ค่าอุปกรณ์ PPE รวมค่าทำความสะอาดยานพาหนะเพื่อฆ่าเชื้อ 3,700 บาท/ครั้งเป็นต้น

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้โอนเงินค่ารักษาและตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ 148 แห่ง เป็นเงินกว่า 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่ารักษาโควิด-19 จำนวน 1,700 ล้านบาท และค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 เดือนเมษายน 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมา สปสช.ได้ปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยบริการต่างๆ ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่มีรอบการจ่ายทุก 1 เดือน เป็นจ่ายทุกๆ ครึ่งเดือน หรือเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่หน่วยบริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเมื่อมีสภาพคล่องดีขึ้น ก็จะมีความคล่องตัวในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มากขึ้นด้วยนั่นเอง

จเด็จ1

ในส่วนของงบบริการสาธารณสุขกรณีการคัดกรองโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) นั้น สปสช.ได้ปรับให้จ่ายเร็วขึ้นเป็นทุกๆ 15 วัน ซึ่งครอบคลุมงบบริการผู้ป่วยนอกทุกประเภท ไม่ใช่แค่งบผู้ป่วยนอกกรณีโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลที่ดูแลมีกระแสเงินสดที่จะนำไปหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยไม่กระทบการบริหารจัดการในส่วนอื่นๆ ของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามในส่วนของงบรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP COVID-19 นั้น มีการเบิกจ่ายให้โรงพยาบาลทุก 15 วันอยู่แล้ว

หากโรงพยาบาลมีข้อสงสัยในการเบิกจ่ายเงินในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ติดต่อที่เบอร์โทร. 02-142-3100 ถึง 3 โทร.061-402-6368 และ 090-197-5129

นอกจากนี้ สปสช. เปิดสายด่วน  1330 กด 12 รับเรื่องร้องเรียน ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่าตรวจ-ค่ารักษา โควิด19 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายดูแลผู้ป่วยโควิดฟรี! ทุกกรณี ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

การตรวจรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนั้น สปสช. มีรายการค่าใช้จ่ายที่รัฐจ่ายให้ครอบคลุมกว่า 3,800 รายการ เช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าพยาบาล เป็นต้น ซึ่งรายการเหล่านี้ล้วนมีการตกลงกับโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดแล้ว หากอยู่ในรายการตามที่ตกลงไว้ โรงพยาบาลเอกชนสามารถเบิกได้หมดไม่จำเป็นต้องเก็บจากประชาชน
อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight