COVID-19

โชว์ปก วัคซีนพาสปอร์ต พร้อมตั้งผู้มีอำนาจลงนาม ใช้เดินทางต่างประเทศ

ราชกิจจานุเบกษา ตีพิมพ์แบบหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หรือ วัคซีนพาสปอร์ต ใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ 

ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์เอกสาร 2 ฉบับ เกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หรือ วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) ได้แก่ ประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง แบบหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2564

วัคซีนพาสปอร์ต

หนังสือฉบับที่สอง เป็น คำสั่งกรมควบคุมโรค ที่ 587/2564 เรื่อง มอบหมายผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เอกสารทั้งสองฉบับลงนามโดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

สาระสำคัญ คือ ให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดทำวัคซีนพาสปอร์ต โดยมีหน้าปกระบุข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “DEPARTMENT OF DISEASE CONTROL, MINISTRY OF PUBLIC HEALTH THAILAND” (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” เครื่องหมายตราครุฑ ระบุข้อความ “COVID-19 CERTIFICATE OF VACCINATION” (หนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) พร้อมเลขที่หนังสือ ขึ้นต้นด้วย ค.ศ. ด้านล่างระบุว่า Issue to … (ออกให้กับ) Passport No. … (เลขที่หนังสือเดินทาง) or National identification … (หรือ เลขประจำตัวประชาชน)

เนื้อหาในหนังสือรับรอง จะมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขคือ เอกสารรับรองนี้เป็นการรับรองเฉพาะการได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยาของราชอาณาจักรไทย หรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก

วัคซีนพาสปอร์ต

นอกจากนี้ จะต้องมีลายมือชื่อของอธิบดีกรมควบคุมโรค หรือผู้ที่อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้ออกเอกสารรับรอง พร้อมประทับตราหน่วยงานของผู้ที่ออกเอกสารรับรองนั้น เจ้าหน้าที่อาจไม่รับพิจารณาเอกสารรับรองที่มีรอยแก้ไข ขูดลบ ขีดฆ่า หรือมีข้อความไม่สมบูรณ์ โดยให้กรอกข้อมูลในเอกสารรับรองเป็นภาษาอังกฤษอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ จะมีข้อความภาษาอื่น ๆ ควบคู่กับภาษาอังกฤษด้วยก็ได้ เอกสารรับรองนี้รับรองเป็นรายบุคคลเท่านั้น ไม่ให้ใช้ร่วมกันเป็นหมู่คณะ และต้องออกเอกสารรับรองแยกสำหรับเด็กด้วย ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองลงลายมือชื่อในเอกสารรับรองแทน หากเด็ก (อายุต่ำกว่า 7 ปี) ยังเขียนหนังสือไม่ได้ สำหรับผู้ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ให้ผู้นั้นพิมพ์ลายนิ้วมือแทน (ปกติให้ใช้นิ้วหัวแม่มือขวา)

ส่วนคำสั่งกรมควบคุมโรค มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สังกัดกรมควบคุมโรค ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร หรือ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เป็นผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรอง และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สังกัดกรมควบคุมโรค 6 ราย เป็นผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรอง ได้แก่

1. นายโรม บัวทอง นายแพทย์เชี่ยวชาญ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค

2. น.ส.สิริรักษ์ ธนะสกุลประเสริฐ นายแพทย์ชำนาญการ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค

3. นายรวินันท์ โสมา นายแพทย์ชำนาญการ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค

4. นางรณิดา เตชะสุวรรณา นายแพทย์ชำนาญการ กองโรคติดต่อทั่วไป

5. น.ส.กมลทิพย์ อัศววรานันต์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง

6. น.ส.ปริณดา วัฒนศรี นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษา กรมควบคุมโรค

โดยให้ปฏิบัติตาม ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2564 (ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 31 มี.ค. 2564)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo