Politics

ย้ำ! April Fool’s Day แชร์ข่าวปลอมทำประชาชนแตกตื่น เจอโทษหนัก

ปอท. ย้ำ!! April Fool’s Day 1 เมษายน แชร์ข่าวปลอมทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก แตกตื่น เสี่ยงผิด “พ.ร.บ.คอมฯ” เจอโทษหนัก

ที่ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ 1 เมษายนของทุกปีเป็นวัน April Fool’s Day หรือ “วันโกหก” ซึ่งเป็นธรรมเนียมของฝรั่งที่จะเล่นมุกตลก และเรื่องหลอกลวงต่อกัน พี่น้องประชาชน อาจนึกสนุกโพสต์ หรือแชร์ข้อมูลที่เป็นเรื่องหลอกลวงในวันพรุ่งนี้แล้วออกมาเฉลยในวันต่อมา โดยไม่ถือโทษโกรธกัน

แต่เนื่องจากในช่วงเวลานี้ บ้านเมืองเรายังถือว่าอยู่ในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประกอบกับพี่น้องประชาชน มีการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงขอเตือนว่า อย่าโพสต์ หรือแชร์เรื่องราวอะไรที่ไม่เป็นความจริงแล้วมาอ้างว่า เป็นการล้อเล่นในวันโกหก ในลักษณะข่าวปลอม (Fake News) ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายได้รับความอับอาย

โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือในประเด็นอื่นที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ซึ่งในเรื่องนี้มีกฎหมายควบคุมอยู่อย่างชัดเจน จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนหากจะร่วมสนุกด้วยการโกหกก็ขอให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และไม่ละเมิดกฎหมาย

April Fool's Day

ทั้งนี้ ฝากเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังในการโพสต์หรือแชร์ข่าวต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย ว่ามีโทษจำคุกและเสียค่าปรับตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชนมาตรา 14 (2) ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ต่อการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนมาตรา 14(5) ผู้ใดเผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ช่วงนี้มีผู้ไม่หวังดี พยายามปล่อยข่าวปลอมในหลายประเด็น เพื่อหวังให้ประชาชน เกิดความสับสน และตื่นตระหนก จึงฝากพี่น้องประชาชน ใช้วิจารณญาณให้มาก ๆ ก่อนที่จะเชื่อ และแชร์ข้อมูล โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะได้มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว ตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย” รอง ผบก.ปอท. กล่าว

April Fool's Day

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันโกหก หรือ วันเมษาหน้าโง่ หรือ April Fools’ Day ประวัติของวัน ๆ นี้ เริ่มต้นที่ประเทศฝรั่งเศส ในยุคศตวรรษที่ 16 ขณะนั้น ชาวฝรั่งเศสมีวันปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 เมษายน กระทั่งมาถึง ค.ศ.1562 โป๊ป เกรกอรี จึงกำหนดให้ชาวคริสต์ทั่วโลก ฉลองวันปีใหม่พร้อมกันวันที่ 1 มกราคม

ทั้งนี้ ในสมัยก่อน ข่าวสารไม่ได้กระจายรวดเร็วเหมือนสมัยนี้ คนบ้านนอกของฝรั่งเศสบางกลุ่มยังไม่รู้ แถมบางคนได้ยินแล้วก็ยังไม่เชื่อ เลยฉลองวันปีใหม่กันวันที่ 1 เมษายนเหมือนเดิม ทำให้พวกไม่ตกยุคเย้ยหยันพวกตกยุคว่า “หน้าโง่” แถมยังพยายามจะแกล้งหลอกคนกลุ่มนี้ เพื่อความสนุกสนานอีกด้วย

วันที่ 1 เมษายน ก็เลยกลายเป็นวันที่คนแกล้งหลอกกัน ด้วยการแต่งเรื่องอะไรก็ได้ มาหลอกให้คนอื่นหลงเชื่อ จากนั้นค่อยเฉลยในตอนท้าย ซึ่งเรื่องที่เอามาหลอกนั้น จะต้องไม่ทำให้อีกฝ่ายถึงกับเลือดตกยางออก และคนที่ถูกหลอกจะต้องไม่โกรธด้วย เพราะถือว่า วันนี้เป็นวันพิเศษ ยกเว้นให้หนึ่งวัน

บางทฤษฎี เล่าว่า วันโกหกนี้ เริ่มจากพวกโรมันโบราณมีเทศกาลที่เรียกว่า “Cerealia” จัดในช่วงต้นเดือนเมษายน เรื่องเล่านี้มีว่า เทพเจ้าชื่อ Ceres ทรงได้ยินเสียงสะท้อนของพระธิดา Prosperpina ตะโกนมาว่า เธอถูกจับตัวไปอยู่ใต้ผืนดินโดยเทพพลูโต Ceres จึงตามเสียงลูกสาวไป และได้พบความจริงที่ว่า การตามเสียงสะท้อนเนี่ย เป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเลย เหมือนว่าพระองค์ทรงถูกหลอกนั่นเอง

นอกจากนี้ มีอีกทฤษฎีที่เชื่อว่า วันโกหก เกิดจากช่วงฤดูใบไม้ผลิ มีคำกล่าวที่ว่า ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หนุ่มสาวจะออกตามหาความรัก และเป็นช่วงที่พืชเจริญเติบโต สัตว์ต่าง ๆ หาคู่ด้วยและในเดือนนี้ (เมษายน) พวกนักบวชจะพยายามหลอกล่อวิญญาณ ของความชั่วร้ายอย่างสุดความสามารถ เพื่อไม่ให้มันมาขัดขวางความรักของทั้งหนุ่มสาว พืช และสัตว์

ดังนั้น จึงเป็นเดือนที่นักบวชจะต้องสวดเพื่อล่อวิญญาณร้าย ซึ่งวิธีนี้เริ่มขึ้นในอเมริกา และเผยแพร่ไปที่อังกฤษ และลามเข้าไปในประเทศอื่น ๆ

หัวใจ ของการโกหกในวัน April Fool Day คือ ความตลก โดยเรื่องที่โกหกต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ไม่ทำอันตรายให้คนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่เกี่ยวกับความเป็นความตาย เพราะฉะนั้น กลอุบายที่ยอดเยี่ยมที่สุดจะต้องทำให้ทุกคนหัวเราะได้ โดยเฉพาะคนที่ตกเป็นเหยื่อ

สำหรับตัวอย่างเหตุการณ์ April Fools’ Day ที่ผ่านมานั้น อาทิ

  • ในปี 1990 ที่อังกฤษ สถานีวิทยุ Kiss FM ออกอากาศว่าดวงจันทร์จะชนโลก
  • ในปี 2005 สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่ Estonia ได้ออกอากาศว่ามีวิธีที่ทำให้ทางสถานีรู้ว่า ณ ขณะนี้มีผู้ชมอยู่หน้าจอทั้งหมดกี่คน และยังบอกให้ผู้ชมนั้นใส่เหรียญไปที่หน้าจอโทรทัศน์เพื่อที่จะชมรายการทีวีต่อ
  • ในปี 2005 อีกเหมือนกันทางองค์การ NASA ได้พาดหัวที่หน้า website ของตัวเองว่าได้พบน้ำบนดาวอังคาร ซึ่งเมื่อคลิกเข้าไปก็พบภาพแก้วน้ำวางอยู่บนขนมยี่ห้อ Mars
  • ในปี 2007 สำหรับผู้ให้บริการฟรีอีเมลล์รายใหญ่ GMail ประกาศให้บริการ GMail Paper บริการสำรองข้อมูลอีเมลล์ลงบนกระดาษ
  • ในปี 2008 ก็ยังมีการเล่นกันต่อเรามาดูว่ามีข่าวหลอกๆอะไรที่น่าสนใจบ้าง
    – Pizza Hut เปลี่ยนเป็น Pasta Hut ในโฮมเพจของ Pizzahut.com
    – BMW ประกาศเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ป้องกันสุนัขฉี่ใส่รถ โดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าตอบกลับ เพื่อช๊อคเจ้าตูบที่กำลังปลดทุกข์อยู่
    – Google Australia เปิดให้บริการใหม่ GDay ซึ่งสามารถค้นหาเวปไซต์ที่ยังไม่สร้างล่วงหน้าได้หนึ่งวัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : th.wikipedia.org, guru.google.co.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo