Politics

ตัวเลข ‘ผู้สูงอายุไทย’ แตะ 11.6 ล้านราย อนาคตเพิ่มอีกปีละ 1 ล้านคน

ครม. รับทราบตัวเลข “ผู้สูงอายุไทย” แตะ 11.6 ล้านราย อนาคตเพิ่มจำนวนอีกปีละ 1 ล้านคน สวนทางเด็กเกิดใหม่แค่ปีละ 6 แสน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน วันนี้ (30 มี.ค.) ว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2562 ตามที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ

ตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.6 ล้านคน คิดเป็น 17.5% ของประชากรทั้งประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุครบ 60 ปี ปีละ 1 ล้านคน และในปี 2576 จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่การเด็กเกิดใหม่ในปี 2562 มีจำนวนลดต่ำลงเหลือเพียง 6.1 แสนคน

ด้านทั่วโลกมีผู้สูงอายุครบ 1 พันล้านคนแล้วในปี 2562 คิดเป็น 13% ของประชากรทั้งโลก นอกจากนี้ประชากรทั่วโลกกำลังจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง แต่ประชากร ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับประเทศไทย

ผู้สูงอายุไทย ครม.

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ (Social Welfare for Elderly) มาตลอด โดยการจัดสวัสดิการด้านต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จเช่น

1.ด้านการศึกษา เช่น จัดตั้งโรงเรียน ผู้สูงอายุ จำนวน 1,555 แห่ง โดยกำหนดเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในมิติสุขภาพ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ และมิติสิ่งแวดล้อม

2.ด้านสุขภาพอนามัย เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพห (บัตรทอง) ซึ่งมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแล จำนวน 219,518 คน

3.ด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการปรับปรุงซ่อมบ้านให้แก่ ผู้สูงอายุ จำนวน 3,200 หลัง และปรับปรุงสถานที่สาธารณะให้เอื้อต่อผู้สูงอายุและผู้พิการ จำนวน 20 แห่ง

4.ด้านการทำงานและการมีรายได้ เช่น

  • รัฐบาลออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงานมากขึ้น
  • ตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) 1,489 แห่ง
  • สนับสนุนเงินทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพผู้สูงอายุผ่านกองทุนผู้สูงอายุ จำนวน 8,991 คน
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 09 ล้านคน
  • สวัสดิการบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติ

5.ด้านบริการทางสังคม เช่น ช่วยเหลือการทำศพผู้สูงอายุตามประเพณี การช่วยเหลือผู้สูงอายุในภาวะยากลำบากผ่านกลไกในระดับพื้นที่ คือ อาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น

รัชดา ธนาดิเรก

นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีข้อเสนอแนะต่อ ครม. เพื่อรองรับสังคม ผู้สูงอายุไทย ในระยะยาว ดังนี้ 1.ทบทวนและคำนึงถึงความยั่งยืน และภาระด้านงบประมาณอย่างจริงจังต่อการจัดสวัสดิการฯ ผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ควรคำนึงถึงการนำเงินที่ได้รับไปต่อยอดให้เกิดรายได้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพและการดำรงชีวิตในระยะยาว

2.ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเป็นสากลมากขึ้น โดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะแนวคิดการสงเคราะห์ แต่ควรจัดสวัสดิการสังคมบนพื้นฐานของสิทธิพลเมือง ที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงและได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

3.กระจายความรับผิดชอบในการจัดสวัสดิการสังคมผ่านการสร้างหุ้นส่วน โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมและสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับ ผู้สูงอายุ อย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีกังวลอย่างมากก็คือ คนไทยจะอยู่อย่างไรในวัยเกษียณถ้าไม่มีรายได้ จะทำอย่างไรให้คนไทยมีความมั่นคงในวัยเกษียณ มีเงินใช้อย่างเพียงพอ วันนี้ ครม. จึงได้อนุมัติหลักการร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติสำหรับแรงงานในระบบทุกประเภท หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้บุคลากรภาคเอกชน

ฉบับแรก เป็นร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ สาระสำคัญ คือ จัดตั้ง กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ให้เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ว มีวัตถุประสงค์ให้เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ ทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน และพนักงานในรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ ซึ่งกองทุนนี้จะถือเป็นศูนย์กลาง บูรณาการการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบำเหน็จบำนาญด้วย

ส่วนร่างกฎหมายที่ 2 คือ ร่างกฎหมายคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการจัดระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo