Politics

#ราษฎรฟ้องกลับ ขอคำสั่งห้ามตำรวจ ‘ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ’ ต่อผู้ชุมนุม

กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ผนึกกำลังยื่น ฟ้องศาลปกครอง กลาง หวังขอคำสั่ง ห้ามตำรวจใช้กำลังจัดการผู้ชุมนุมเกินกว่าเหตุ พร้อมเรียกร้องค่าเสียหาย อ้างละเมิดเสรีภาพการชุมนุม

วันนี้ (26 มี.ค.) ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน นำโดย นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมือง แนวร่วม กลุ่มราษฎร พร้อมด้วยตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ด้านหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 รวมตัวกันยื่น ฟ้องศาลปกครอง กลาง เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยุติการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ จัดการกับผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร และกลุ่มผู้ชุมนุมอื่น ๆ  พร้อมเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย จากการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมผู้ฟ้องคดี

ฟ้องศาลปกครอง
ภาพ : Twitter@TLHR2014

นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความ เปิดเผยว่า การยื่นฟ้องคดีวันนี้ เพื่อต้องการให้เป็นส่วนหนึ่ง ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน ในการกำกับดูแลการทำหน้าที่ของตำรวจ ในการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม การดูแลความปลอดภัย ทั้งของผู้ชุมนุม และประชาชน

โดยท้ายคำร้อง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติการใช้กำลังจัดการการชุมนุมที่เกินกว่าเหตุ อันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการใช้กำลังโดยไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ไม่เป็นไปตามแผนดูแลการชุมนุมสาธารณะ และคู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ โดยเฉพาะการใช้กำลัง และเครื่องมืออุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล เช่น ห้ามฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตา หรือสารเคมี และหรือห้ามใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และห้ามวางสิ่งกีดขวาง ขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกินกว่าเหตุ โดยไม่มีเหตุอันควร

ฟ้องศาลปกครอง
ภาพ : Twitter@TLHR2014

ทางด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า ในวันดังกล่าวตนเดินทางไปเพื่อจะเข้าร่วมประชุม ในฐานะกรรมาธิการที่รัฐสภา และได้มีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางโดยได้รับคำยืนยันว่า สามารถเดินทางเข้าอาคารได้ และการจราจรปกติ ซึ่งตนเดินทางไปก่อนที่การชุมนุมจะเริ่ม ก็พบว่ามีการปิดกั้นเส้นทางแล้ว เมื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่ขอเปิดช่องทางเล็ก ๆ เพื่อผ่านเจ้าหน้าที่ก็ไม่รับฟัง และมีการขู่ว่า หากเข้าใกล้แนวกั้น ก็จะทำการฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง

“จากประสบการณ์ส่วนตัว เห็นว่า บริเวณรัฐสภา เป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยที่ประชาชน สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นแสดงออกได้ พื้นที่หน้ารัฐสภาไม่ควรที่จะถูกจำกัด หากมีเหตุการณ์ที่จะต้องปิดกั้น เจ้าหน้าที่ควรมีความยืดหยุ่น แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่วันดังกล่าว เหมือนพยายาม ที่จะใช้ความรุนแรง ปราบปรามอย่างเดียว โดยที่ไม่การผ่อนปรน”

นางอังคณา กล่าวอีกว่า ส่วนเหตุที่เพิ่งมาฟ้องส่วนหนึ่งเพราะหลายๆคนกังวล หวาดกลัว เรื่องความปลอดภัยว่าจะถูกแก้แค้นหรือไม่หากมาฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจริงๆควรมีกลไกตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และเราพบว่าหลังจากวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่เองก็ใช้กำลังมาโดยตลอด แม้เจ้าหน้าที่ออกมาขอโทษแต่ก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ไม่มีการชดใช้หรือเยียวยา และในวันนั้นไม่มีกระทั่งรถพยาบาลที่จะนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล มีแต่การช่วยเหลือกันเองของผู้ชุมนุม ส่วนตัวก็หวัง ว่าศาลปกครองจะเป็นที่พึ่งของประชาชนในการที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

บรรยากาศ แยกเกียกกาย ๒๐๑๑๑๗

ด้านน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว กล่าวว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมที่ผ่านมา ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายการชุมนุม แต่กลับใช้กฎหมายมาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ทั้งกฎหมายพ.ร.บ.การชุมนุม และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่ได้พยายามขัดขวางการชุมนุม ด้วยการใช้แท่งแบริเออร์ และลวดหนาม มาสกัดผุ้ชุมนุมไว้ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเจรจา ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ กับผู้ชุมนุม ซึ่งขัดกับมาตรฐานสากล ที่จะต้องมีความพยายามเปิดพื้นที่ให้มีการเจรจาก่อน เพื่อแสดงความจริงใจ ต้องการเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ตนมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในฐานะผู้เสียหายจากการไปร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว ซึ่งโดนแรงดันน้ำ และสารเคมีที่อยู่ในน้ำที่เจ้าหน้าที่ฉีดใส่ผู้ชุมนุม ทำให้หลังจากวันเกิดเหตุ ตนต้องไปพบแพทย์ เนื่องจากมีอาการผิวหนังแพ้สารเคมี และไอเป็นเลือด ซึ่งตนเองมีหลักฐานยืนยัน เป็นใบรับรองแพทย์ ที่จะนำมายื่นประกอบการฟ้องต่อศาลปกครองด้วย

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าวิธีการที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมขัดต่อกฎหมายมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2563

ฟ้องศาลปกครอง

น.ส.ชลธิชา ยังกล่าวอีกว่า ตนมีหน้าที่รับผิดชอบติดตามประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุม โดยจากข้อมูลพบว่า หลายรายมีแผลพุพอง และมีอย่างน้อย 4 คนที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 2-3 วัน

ที่สำคัญมีแนวโน้มว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกับฝั่งต้องการปฏิรูปสถาบัน หรือผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหลังจากวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ได้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งหวังว่าการยื่นฟ้องศาลปกครองในวันนี้ จะเป็นบรรทัดฐานเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมอีกต่อไป

ขณะที่ผู้ปกครองเด็ก 3 ขวบที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ตนคิดว่าในวันดังกล่าวตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ยืนยันว่าตน และลูก ไม่ได้มีเจตนาจะเข้าไปร่วมชุมนุมเพียงแค่ผ่านไปเท่านั้น ซึ่งตอนที่ไปเจ้าหน้าที่ยังเปิดแบริเออร์ให้ผ่านเข้าไปได้อยู่

ฟ้องศาลปกครอง

เมื่อเข้าไปถึงมีกลุ่มผู้ชุมนุมถึง 2 กลุ่ม จึงเลี้ยวรถกลับจะออกทางเดิม ก็ปรากฏว่าตำรวจปิดแล้ว และเป็นช่วงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุม 2 กลุ่มกำลังดันกันเข้ามา ทำให้ตนและลูกไม่สามารถออกมาได้ หลังจากนั้นปรากฏเป็นภาพข่าว ที่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดกล่าวหาว่า ผู้ปกครองพาเด็กเข้าไป เพื่อที่จะให้เป็นโล่มนุษย์รับแรงดันน้ำสูง ซึ่งแค่รถน้ำธรรมดาก็รุนแรงพอแล้ว และยังผสมสารเคมีเข้าไป เด็ก 3 ขวบทนไม่ไหวแน่ แม้จะห่าง300-400 เมตรก็ยังพัดมาโดน

จึงอยากฝากเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณามาตรการในการควบคุมฝูงชนให้ดีกว่าที่ผ่านมา ลองคิดว่า หากผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้าไปโดนกับลูกหลานตำรวจขึ้นมาบ้างจะรู้สึกอย่างไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo