Politics

กรมควบคุมโรค แนะ 5 วิธีแก้ง่วง ลดอุบัติเหตุทางถนน 

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนขับรถทางไกล ด้วยความระมัดระวัง เผยบางพื้นที่ฝนตก ลมกระโชกแรง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนน แนะ 5 วิธีแก้ง่วง ลดอุบัติเหตุ 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วง 28 กุมภาพันธ์ -2 มีนาคม 2564 หลายพื้นที่ในประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องขับขี่รถเพื่อเดินทางกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ หลังกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาวนี้ ขอให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง รวมถึงอันตรายในช่วงฝนตกลมแรง ซึ่งจะทำให้ถนนเปียกลื่น และทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี  หากฝนตกหนักอาจทำให้ถนนและในบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังได้

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าก่อนเดินทางทุกครั้ง ขอให้เตรียมรถและคนให้พร้อม โดยผู้ขับขี่ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและไม่รับประทานยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาลดน้ำมูก ยาภูมิแพ้ ยาแก้ไอ เป็นต้น พักผ่อน ให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง มีการตรวจเช็คความพร้อมของยานพาหนะ เช่น ตรวจลมยาง ไฟส่องสว่างและไฟเลี้ยว ระบบเบรก เป็นต้น ขับรถด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากขี่รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยตลอดการเดินทาง

นพ.โอภาส 2

ในขณะเดินทางหากมีฝนตก ขอแนะนำให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ โดยเปิดไฟต่ำเพื่อช่วยให้มองเห็น เปิดใบปัดน้ำฝน ลดความเร็ว ให้ทิ้งระยะห่างจากคันหน้า เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ก่อนทุกครั้ง และเมื่อต้องขับรถผ่านจุดที่มีน้ำท่วมขัง ให้ชะลอรถหรือหากน้ำท่วมสูงให้หยุดประเมินสถานการณ์ก่อนและขับผ่านด้วยความระวัดระวัง

รถ1 1
White car rushing along a high-speed highway. Toned photo.

นอกจากนี้ ขอแนะนำ 5 วิธีแก้ง่วงในระหว่างเดินทาง ได้แก่

1. หาเครื่องดื่มช่วยเพิ่มความสดชื่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ที่สามารถเพิ่มความสดชื่นและทำให้ตื่นตัวได้เป็นอย่างดี

2. หาของทานเล่นระหว่างขับรถ เช่น มันฝรั่ง ลูกอม หมากฝรั่ง บ๊วย ผลไม้รสเปรี้ยว

3. เปิดหน้าต่างรถ เพื่อให้อากาศถ่ายเท และควรเตรียมผ้าชุบน้ำไว้เช็ดหน้าด้วย

4. เปิดเพลงดังๆ จังหวะเร็วๆ ร้องตาม จะช่วยสร้างความครื้นเครงและทำให้ตื่นตัวขณะขับรถ

5. ขยับร่างกายเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ ควรจอดพักรถทุกๆ 150 กิโลเมตร หรือทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพราะการขับรถนานๆ จะทำให้มีอาการง่วง การได้ขยับร่างกายจะช่วยลดการเมื่อยล้าได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ขอให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลขณะเดินทาง  ใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากาก 100% รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

พร้อมทั้งสแกน “ไทยชนะ” ก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง และขออวยพรให้ประชาชนเดินทางกลับเข้ามาในกรุงเทพฯโดยสวัสดิภาพ ไร้อุบัติเหตุ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight