Politics

ยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งต่อเนื่อง! ‘หมอธีระ’ เตือนแม้ได้วัคซีนก็อาจติดเชื้อ

ยอดผู้ติดเชื้อ ยังพุ่งต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 109,622,245 คน เสียชีวิตรวม 2,417,063 คน “หมอธีระ” เตือนแม้ได้วัคซีนแล้ว ก็อาจติดเชื้อได้ ย้ำ! ต้องป้องกันตัวให้ดี ใส่หน้ากากเสมอ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อ วันนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 16 กุมภาพันธ์ 2564… เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 276,654 คน รวมแล้วตอนนี้ 109,622,245 คน ตายเพิ่มอีก 7,085 คน ยอดตายรวม 2,417,063 คน

  • อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 46,178 คน รวม 28,298,996 คน ตายเพิ่มอีก 929 คน ยอดตายรวม 497,868 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 9,036 คน รวม 10,925,208 คน
  • บราซิล ติดเพิ่ม 23,856 คน รวม 9,858,369 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 14,207 คน รวม 4,086,090 คน

ยอดผู้ติดเชื้อ

  • สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 9,765 คน รวม 4,047,843 คน
  • อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
  • แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
  • แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
  • เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนเวียดนามติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

คาดว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จำนวนการติดเชื้อต่อวันของทั่วโลกจะสามารถกดลงไปถึงระดับที่เหมือนกับช่วงมิถุนายนปีที่แล้วคือราว 250,000 คนต่อวันได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่จะฟื้นตัวได้เร็วนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักสี่ประการคือ

  • หนึ่ง นโยบายและมาตรการที่รัดกุม โดยไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการนำเชื้อกลายพันธุ์เข้ามาสู่ภายในประเทศ
  • สอง พฤติกรรมการป้องกันตัวของประชาชนอย่างเป็นกิจวัตร ทั้งระดับบุคคล ชุมชน รวมถึงธุรกิจห้างร้านต่างๆ ที่ประกอบกิจการ
  • สาม การเลือกใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง และความสามารถในการจัดหามาฉีดให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม
  • สี่ ระบบการตรวจคัดกรองโรคที่มีสมรรถนะในการให้บริการอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่

วิเคราะห์สถานการณ์ของเรา… คงต้องยอมรับว่า วัคซีนที่ไทยนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Sinovac หรือ Astrazeneca นั้น ผลของการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการนั้น มีแนวโน้มจะไม่เท่ากับวัคซีนอีกหลายตัวที่ประเทศอื่น ๆ ได้ใช้กัน เช่น Pfizer/Biontech และ Moderna รวมถึง Johnson&Johnson และ Novavax ด้วย

ดังนั้นผลลัพธ์ที่จะคาดหวังได้ก็คงต่างจากประเทศอื่น ๆ อยู่ไม่มากก็น้อย

ล่าสุดอิสราเอลได้เผยแพร่ข้อมูล จากการศึกษาวิจัยติดตามประเมินผล ของการฉีดวัคซีนที่ประเทศเค้า ซึ่งใช้ mRNA vaccine ของ Pfizer/Biontech โดยเปรียบเทียบอุบัติการณ์การเกิดการติดเชื้อแบบมีอาการป่วยรุนแรง ในประชากรราว 1,200,000 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งได้วัคซีนไป อีกครึ่งยังไม่ได้วัคซีน พบว่า กลุ่มที่ได้วัคซีนไปนั้น สามารถลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงได้ถึง 94% พอ ๆ กับที่รายงานในงานวิจัยทางคลินิกระยะที่สาม

แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ แม้แต่ประเทศที่ฉีดไปจำนวนมากแบบอิสราเอล อัตราการติดเชื้อต่อวันก็ยังสูงหลายพันต่อวัน เพราะวัคซีนต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้น ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ แบบไม่มีอาการได้ดีเพียงพอ พฤติกรรมการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจึงยังจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวันแม้จะมีวัคซีนใช้แล้วก็ตาม

ต้องตระหนักเสมอว่า แม้ได้วัคซีนแล้ว ก็อาจติดเชื้อได้ และแพร่ไปให้คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และคนอื่นในสังคมได้

ด้วยสถานการณ์ที่เราเห็นในปัจจุบันว่ามีการติดเชื้อในชุมชนกระจายไปเรื่อยๆ ในหลากหลายพื้นที่

ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเลือกใช้นโยบายที่ยืดหยุ่น ให้คนใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ แต่การตรวจตรามาตรฐานการป้องกันโรคนั้นไม่ครอบคลุมเพียงพอ ทำให้แหล่งการใช้ชีวิตต่าง ๆ เช่น ตลาด ก็ยังดำเนินการไปอย่างแออัด อากาศไม่ถ่ายเท รวมถึงพ่อค้าแม้ค้าบางส่วนก็ไม่ได้ระแวดระวังป้องกันตัว ทั้งกินข้าวร่วมกัน หรือแม้แต่การตะลอนหลายที่ ไม่สวมหน้ากาก เป็นต้น

ดังนั้นคงได้แต่พึ่งตัวของเราเอง ป้องกันตัวให้ดี ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการกินดื่มในร้าน ซื้อกลับจะดีกว่า ลดละเลี่ยงการท่องเที่ยวพบปะสังสรรค์กัน และคอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายคล้ายหวัด ให้หยุดเรียนหยุดงานแล้วรีบไปตรวจ

ด้วยรักและปรารถนาดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK