Politics

‘หมอธีระ’ เปิด 4 แนวทางเตรียมรับมือ หากตัดวงจรการแพร่ระบาดไม่ได้!!

“หมอธีระ” เผยยอดติดเชื้อโควิดทั่วโลกจ่อทะลุ 100 ล้านคน ชี้ปัญหาการระบาดซ้ำระลอกสองของไทยนี้หนักกว่าระลอกแรก พร้อมเปิด 4 แนวทางเตรียมรับมือ หากตัดวงจรการแพร่ระบาดไม่ได้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 25 มกราคม 2564… เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 435,016 คน รวมแล้วตอนนี้ 99,691,309 คน ตายเพิ่มอีก 9,092 คน ยอดตายรวม 2,136,949 คน

  • อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 136,706 คน รวม 25,676,925 คน ตายเพิ่มอีก 2,050 คน ยอดตายรวม 429,143 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 12,921 คน รวม 10,668,356 คน
  • บราซิล ติดเพิ่มถึง 28,323 คน รวม 8,844,577 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 21,127 คน รวม 3,719,400 คน

หมอธีระ

  • สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 30,004 คน รวม 3,647,463 คน
  • อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
  • แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
  • แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
  • เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกัมพูชา ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 476 คน ตายเพิ่มอีก 17 คน ตอนนี้ยอดรวม 137,574 คน ตายไป 3,062 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%…

วิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่เราอาจต้องเผชิญ…

หลักการและเหตุผล:

1. ปัญหาการระบาดซ้ำระลอกสองของไทยนี้หนักกว่าระลอกแรก ดังจะเห็นได้จากจำนวนการติดเชื้อที่สูงมากกว่าเดิมหลายเท่า ดังจะเห็นได้จาก 15 มีนาคม 2563 ถึง 15 เมษายน 2563 มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2,529 คน ในขณะที่ 19 ธันวาคม 2563 ถึง 19 มกราคม 2564 มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 8,594 คน

2. การระบาดครั้งนี้ กระจายไปทั่วประเทศ และมีทั้งการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงมากมายหลายกลุ่มในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ตั้งแต่คนไทยและแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง ปาร์ตี้บิ๊กไบค์ สถานบันเทิง บ่อนการพนัน โรงงาน และที่น่ากลัวคือการติดเชื้อจากการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั่วไปในสังคม

ดังจะเห็นได้จากการติดเชื้อในหมู่สมาชิกในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย ที่ทำงานหรือระหว่างการทำงานที่ไปพบปะลูกค้ามากหน้าหลายตา ตลอดจนการเดินทางของผู้ติดเชื้อที่กระจายตัวไปทุกที่่ ทั้งห้าง ตลาด โรงหนัง วัด งานสังคมหลากหลายชนิด รวมถึงธนาคาร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ

3. มาตรการที่ดำเนินการไปนั้น ยังไม่อาจหยุดการเคลื่อนที่ของประชากรทั้งกลุ่มเสี่ยงและคนทั่วไปได้ แม้จะมีการรณรงค์ขอความร่วมมือมากมาย ก็ได้เพียงบรรเทา แต่ไม่สามารถหยุดวงจรการแพร่ระบาดได้อย่างแท้จริง

4. เคสติดเชื้อจำนวนมาก ไม่ได้ถูกตรวจในระบบที่รัฐดำเนินการ สังเกตได้จากประวัติการตรวจพบว่าติดเชื้อ เพราะเดินทางไปขอตรวจเอง เนื่องจากกังวล สงสัย หรือมีอาการมาสักช่วงเวลาหนึ่งแล้วไม่หาย สะท้อนถึงข้อจำกัดของระบบการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่อย่างเพียงพอ

ประกอบกับตัวเลขจำนวนการตรวจโรคต่อประชากร 1,000 คนของไทยนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจพอๆ กับไทย ก็มีจำนวนการตรวจมากกว่าไทยหลายเท่า เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

5. ที่น่าห่วงมากคือ ผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อย ที่แพร่ไปให้ผู้อื่นในสังคม จากการประพฤติปฏิบัติที่เกิดความเสี่ยง ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงาน ตะลอนไปหลายต่อหลายที่ สังสรรค์ปาร์ตี้ และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ รู้ทั้งรู้ว่าไปพื้นที่เสี่ยงมาแต่ไม่กักตัวอย่างเคร่งครัด หรือบางคนขนาดมีอาการคล้ายไข้หวัด

ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์กันมากมายว่าเป็นอาการโควิดได้ ก็ยังดำเนินชีวิตไปแบบปกติ จนเวลาผ่านไปหลายวันจึงค่อยไปตรวจ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่วงกว้าง ยากที่ระบบการติดตามค้นหาผู้สัมผัสความเสี่ยงจะตามได้อย่างครบถ้วน และทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ไปหลายระลอก

6. การค้นหาเชิงรุกในลักษณะทำการสุ่มตรวจนั้น เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่บ้านเมืองปกติ โรคระบาดควบคุมได้ดีแล้ว เพื่อการเฝ้าระวัง ดูจุดที่อาจมีความเสี่ยง แต่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีโรคระบาดกระจายไปทั่ว ดังที่เห็นอยู่ในหลายจังหวัดตอนนี้ และหากทำการสุ่มตรวจ เพื่อจะนำมาใช้กำหนดมาตรการผ่อนคลาย อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแปลผลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

นอกจากนี้ หากสื่อสารสาธารณะก็อาจทำให้ risk perception ลดลง และก่อให้เกิดความประมาทในการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยต้องไม่ลืมว่าประชาชนจากต่างพื้นที่ยังสามารถเดินทางไปมาหากันระหว่างจังหวัดได้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง ตัดสินใจให้รอบคอบ

ฉากที่เราอาจเผชิญได้ในอนาคตและควรพิจารณาวางแผนจัดการล่วงหน้า

1. พลุใหญ่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตเมือง และเขตอุตสาหกรรม หากไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้

2. ภูมิศาสตร์การระบาดของโรค หรือ epidemic geography ของประเทศจะเปลี่ยนไปในระยะยาว เนื่องจากจะมีการติดเชื้อรายวันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ จากการที่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ หากพื้นที่ใดติดเชื้อบ่อยหรือมาก อาจได้รับการตีตราเป็นแดนดงโรคหรือพื้นที่เสี่ยง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย และระบบธุรกิจอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในระยะยาวได้

3. การระบาดซ้ำซากอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะที่ระลอกสองถูกกดลงในระดับหลักหน่วยหรือหลักสิบหรือหลักร้อย โดยระยะเวลาและความรุนแรงจะแปรผันตามระดับที่กดได้

แนวทางการเตรียมรับมือ

1. ขยายระบบบริการตรวจโควิดให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะตรวจประชากรได้อย่างน้อย 2 ครั้งต่อคนต่อปี

2. ปฏิรูปรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว อาหาร และสถานบันเทิง ให้เน้นความปลอดภัยอย่างถาวร เพราะศึกนี้มีแนวโน้มจะต้องสู้ระยะยาว

3. รูปแบบการทำงานในสถานที่ทำงานทุกประเภท จำเป็นต้องขันน็อตเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถานพยาบาล” ทุกแห่ง การตรวจคัดกรองโรคจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลและก่อนผ่าตัด

4. ประชาชนควรตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหา และวางแผนการใช้ชีวิต การทำงาน และการจัดการการเงินให้ดี จำเป็นต้องประหยัดเท่าที่สามารถจะทำได้

ที่สำคัญที่สุดคือ ป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากเสมอ ไม่ตะลอนโดยไม่จำเป็น อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ล้างมือทุกครั้งที่จับสิ่งของสาธารณะ ไม่กินดื่มในร้าน ซื้อกลับบ้านดีที่สุด ลดละเลี่ยงงานกิจกรรมสังคมที่มีคนเยอะๆ และคอยสังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากไม่สบาย ต้องหยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา

ขอให้พวกเราปลอดภัยไปด้วยกัน
ด้วยรักต่อทุกคน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo