Politics

ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 96 ล้าน ‘หมอธีระ’ ชี้จะชนะศึกนี้ต้องเข้มแข็ง!!

ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก ทะลุ 96 ล้านคน ขณะที่ยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 2.06 ล้านคน “หมอธีระ” ชี้จะชนะศึกนี้ได้ ต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็ง รู้เท่าทัน ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 20 มกราคม 2564… เมื่อวาน ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก ติดเพิ่ม 533,873 คน รวมแล้วตอนนี้ 96,452,239 คน ตายเพิ่มอีก 14,118 คน ยอดตายรวม 2,060,995 คน

  • อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 165,823 คน รวม 24,757,235 คน ตายเพิ่มอีก 2,483 คน ยอดตายรวม 410,720 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 13,581 คน รวม 10,596,228 คน
  • บราซิล ติดเพิ่มถึง 11,865 คน รวม 8,523,635 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 21,734 คน รวม 3,612,800 คน
  • สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 33,355 คน รวม 3,466,849 คน
  • อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
  • แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น

ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก

  • แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ทรง ๆ
  • เมียนมาร์ เกาหลีใต้ จีน และไทย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนฮ่องกง และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ออสเตรเลีย กัมพูชา และเวียดนามติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 448 คน ตายเพิ่มอีก 13 คน ตอนนี้ยอดรวม 135,243 คน ตายไป 2,986 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%…

ในช่วงที่ผ่านมามีหลายประเทศเล็งเห็นว่า ปริมาณการผลิตวัคซีนจะไม่เพียงพอแก่ความต้องการของโลก จึงมีแนวคิดที่จะวางแผนฉีดวัคซีน ในลักษณะที่ให้วัคซีนเข็มแรกแก่คนในประเทศให้มากที่สุดไปก่อน เพื่อหวังผลป้องกันในระยะสั้นแต่ได้จำนวนคนเยอะไว้ก่อน แล้วค่อยฉีดเข็มที่สองโดยอาจช้ากว่าที่ระบุไว้ในคำแนะนำวิธีฉีดของบริษัทวัคซีน หรือที่เรียกว่า delayed second dose

ประเทศที่คิดและพูดคุยแนวนี้มีทั้งสหราชอาณาจักร อเมริกา และอื่น ๆ แต่ถือว่า เป็นเรื่องที่ถกเถียงทางการแพทย์อย่างมาก เพราะมาตรฐานวิธีการฉีดนั้น ควรได้รับการกำหนดจากการศึกษาวิจัยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน วัคซีนแต่ละชนิดล้วนถูกพิสูจน์สรรพคุณมาตามรูปแบบการฉีด ระยะห่างระหว่างแต่ละเข็มที่แน่นอนตายตัว

แต่หากไปปรับเอาเอง ก็จะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะการันตีได้ว่าสรรพคุณจะเปลี่ยนไปอย่างไร และมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามดูความเคลื่อนไหวของแต่ละประเทศต่อไปว่าจะตัดสินใจมุ่งเป้าใด ระหว่างระยะสั้นกับระยะยาว

สำหรับสถานการณ์ของไทยเรานั้น

หากวิเคราะห์ตามหลักวิชาการแล้ว ธรรมชาติของการระบาดซ้ำของทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าคุมได้ยาก ใช้เวลานาน เพราะกระจายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเสี่ยง แต่ไปถึงคนทั่วไปในสังคม ที่สามารถติดเชื้อจากการดำรงชีวิตประจำวันได้ และเราก็เห็นได้ว่าเคสติดเชื้อต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มระบาดซ้ำในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

สิ่งที่เป็นข้อสังเกตและพึงระวังคือ

หนึ่ง การ “สุ่ม” ตรวจในกลุ่มเสี่ยง คงได้ประโยชน์เพียงเหมือนถ่ายภาพแบบไกล ๆ เพื่อดูว่ามีอะไรผิดสังเกตไหม แต่ต้องไม่ลืมว่ามีโอกาสพลาดที่จะตรวจไม่เจออะไร เพราะเรา “สุ่ม” ตรวจแค่บางคนจากทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การสุ่มตรวจ 50 คนจากโรงงานแต่ละแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งอาจมีคนงานจำนวนมาก

ยิ่งหากเป็นพื้นที่จังหวัดที่มีการระบาดหนักมาก่อน โอกาสแพร่กระจายติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงคนทั่วไปในจังหวัดย่อมมีสูง แม้สุ่มตรวจจนครบทุกโรงงาน ก็ไม่สามารถการันตีความปลอดภัยได้ และเสี่ยงจะระบาดปะทุซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระยะเวลาต่อมา

สอง การ “สื่อสาร” ให้สาธารณะได้ทราบสถานการณ์ระบาดนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ข้อมูลที่ทำการสื่อสารควรครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอ ไม่ใช่เพียงพรรณนาตัวเลขบางตัว เช่น จำนวนการติดเชื้อในภาพรวม แต่ไม่เอื้อนเอ่ยถึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนการตรวจในแต่ละวัน จำแนกตามพื้นที่ กลุ่มประชากร หรือกิจการ/กิจกรรม ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญที่จะกระตุ้นเตือนให้คนได้คิดวิเคราะห์ และวางแผนปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

เอาแค่เรื่องสุ่ม กับเรื่องสื่อสาร ก็ถือเป็นสองเรื่องสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อชะตาการระบาดอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก จะชนะศึกนี้ได้ ต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็ง และรู้เท่าทันครับ

ดังนั้นด้วยสถานการณ์เช่นนี้ คงไม่มีทางเลือกใดนอกจากต้องกระตุ้นเตือนให้ประชาชนไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างระแวดระวังเสมอ ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว

ด้วยรักต่อทุกคน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK